In News

นายกฯแสดงข้อคิดเห็นระหว่างการหารือ ผู้นำอาเซียนกับสมัชชารัฐสภาอาเซียน



กรุงเทพฯ-นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงข้อคิดเห็นระหว่างการหารือผู้นำอาเซียนกับสมัชชารัฐสภาอาเซียน เชื่อมั่น AIPA ชวนร่วมสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลสมาชิกในอาเซียน

วันนี้ (วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565) เวลา 08.45 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และภริยา เดินทางถึงกรุงพนมเปญ ซึ่งในช่วงสายของวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ณ พระบรมราชวัง

ต่อมา เวลา 14.20 น. ณ โรงแรมสกคา กรุงพนมเปญ ได้กล่าวแสดงข้อคิดเห็นในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly: AIPA) ซึ่งในปีนี้ วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดการประชุม AIPA คือ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน และปรึกษาหารือในการรับมือประเด็นความท้าทายร่วมกัน

การประชุม AIPA เป็นการประชุมแบบเต็มคณะ (plenary) โดยมีสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและประธานอาเซียน เป็นประธานการประชุม และมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ผู้แทนจากรัฐสภาประเทศสมาชิก อาเซียน 9 ประเทศ (เมียนมาไม่เข้าร่วม) เลขาธิการอาเซียน และเลขาธิการ AIPA ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วม ในโอกาสนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญจากคำกล่าวนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้พบกับสมาชิก AIPA วันนี้ การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพแสดงถึงความสำเร็จของรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และประชาชนที่ร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ อย่างไรก็ดี ต้องร่วมมือกันต่อไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แก้ไขประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมตามคำกล่าวของประธาน AIPA

นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า AIPA สนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลสมาชิกในอาเซียนได้ 3 ประการ ดังนี้ 

1. ตอบสนองต่อการรับมือและบรรเทาผลกระทบจากความท้าทายต่าง ๆ อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต้องร่วมมือกันต่อไปเพื่อพิจารณาผ่านร่างกฎหมายที่จำเป็นและงบประมาณของประเทศเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข 
2. ขับเคลื่อนวาระของประชาชน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ่ายทอดความเห็นของประชาชนมายังรัฐบาล โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับประชาชนเพื่อขยายผลไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อความผาสุกของประชาชน
3. แก้ไขหรือออกกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับพันธกรณี และความตกลงของอาเซียน ส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่ RCEP มีผลบังคับใช้แล้ว และหวังว่าประเทศที่เหลือจะเร่งดำเนินการให้สัตยาบันโดยเร็ว เพื่อใช้ผลประโยชน์จากความตกลงฯ ร่วมกัน

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่ารัฐสภาอาเซียนจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน นำประชาคมอาเซียนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประชาคมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

นายกรัฐมนตรีหารือผู้แทนเยาวชนอาเซียน เสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและสร้างโอกาสแก่เยาวชน พร้อมสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม

นายกรัฐมนตรีหารือผู้แทนเยาวชนอาเซียน เสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและสร้างโอกาสแก่เยาวชน พร้อมสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม

เมื่อเวลา 15.15 น. ณ โรงแรมสกคา กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนเยาวชนอาเซียน 20 คน เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนเยาวชนอาเซียน ให้เยาวชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง  โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ได้มาพบปะกับคนรุ่นใหม่ของอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในปีนี้ เป็นปีเยาวชนอาเซียน ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเยาวชนทั้งหลายล้วนมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศและประชาคมอาเซียน พร้อมหวังว่าเยาวชนอาเซียนจะเป็นพลังสำคัญ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และช่วยขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้มีความเข้มแข็ง มีขีดความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ดังเช่นที่ได้เห็นบทบาทที่สำคัญของเยาวชนในการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอทิศทางการพัฒนาและส่งเสริมบทบาทของเยาวชน ดังนี้

ประการแรก  ไทยสนับสนุนให้เยาวชนสามารถก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น โดยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้เยาวชนเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอาเซียน เน้นนวัตกรรมและแนวคิดข้อริเริ่มใหม่ และสร้างความร่วมมือของสถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการในแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาและสร้างโอกาสให้แก่เยาวชนอาเซียนให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง และเรียนรู้ที่จะปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในอนาคต

ประการที่สอง นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนในด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้นและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการช่วยลดช่องว่างระหว่างเยาวชนของประเทศสมาชิกอาเซียนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการบอกเล่าประสบการณ์และวัฒนธรรม สร้างแรงบันดาลใจ และความเชื่อมั่นร่วมกัน

ประการที่สาม นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยเยาวชนอาเซียนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการริเริ่ม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนทางธรรมชาติ

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการสนับสนุนการพัฒนาให้เยาวชนอาเซียนทุกคนเป็นพลังขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ของภูมิภาคนี้ ซึ่งนอกจากทักษะสำคัญต่าง ๆ ที่ต้องมีแล้ว เชื่อมั่นว่า เยาวชนรุ่นใหม่ของอาเซียนต้องเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบในทุกมิติ มีความรักและหวงแหนในอัตลักษณ์ขนบธรรมเนียมที่ดีงามของอาเซียน และมีจิตสาธารณะที่พร้อมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมสร้างประชาคมอาเซียนให้เป็นประชาคม เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง