In Thailand

คัดเลือก2ครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566



เพชรบูรณ์-ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ คัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566

นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ คัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566 จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566 จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าร่วมประชุมเพื่อดำเนินการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ระดับจังหวัด เป็นไปตามประกาศของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์

สำหรับการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ประจำปี 2566 มี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การคัดเลือกระดับจังหวัด โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด ขั้นตอนที่ 2 การคัดเลือกที่ส่วนกลาง โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง พิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อที่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดและองค์กรเสนอมา พิจารณาคัดเลือกให้เหลือจำนวนไม่เกิน 20 คน และขั้นตอนที่ 3 การพิจารณาตัดสิน โดยคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นผู้พิจารณาตัดสินครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จำนวน 1 คน เพื่อรับรางวัลพระราชทานรางวัล จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

สำหรับจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ดำเนินการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566 โดยพิจารณาจากการเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และการมีคุณูปการต่อการศึกษา จำนวน 2 คน ได้แก่

1. นายสำเนาว์ หมื่นชนะ ข้าราชการบำนาญ อดีตครูโรงเรียนบ้านคลองกรวด สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 3  เป็นครูที่มีความทุ่มเทเสียสละในเรื่องการจัดการเรียนการสอน  มีการสอนอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเกษียณอายุราชการแล้ว มีความรักและศรัทธาในวิชาชีพครู ช่วยเหลือนักเรียนด้วยการฝึกทักษะด้านดนตรีไทยให้ตั้งแต่เด็กๆปลูกฝังให้รักดนตรีไทย นักเรียนสามารถนำทักษะไปใช้ในการประกอบอาชีพนำความสามารถพิเศษทางด้านดนตรีไทยไปใช้ในโควตาเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น  ก่อตัั้งวงดนตรีไทยเพื่อช่วยเหลือชุมชนในงานต่างๆ จนได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองและชุมชน

มีการเรียนการสอนด้วยการปฏิบัติจริง ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ใฝ่หาความรู้จากไม่ได้สำเร็จการศึกษาด้านดนตรีไทยจนทำให้เด็กที่เรียนด้วยประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง  สร้างนวัตกรรมในการสอนดนตรีไทย สามารถนำดนตรีไทย มาช่วยในการสอนเด็กพิเศษจนสามารถอ่านออกเขียนได้ นักเรียนมีผลงานได้รับรางวัลเยาวชนต้นแบบ และรางวัลในงานศิลปหัตถกรรมระดับภาคเหนืออย่างสม่ำเสมอ

2. นายไพทูล ไชยกุล ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านนายม สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต  1 เป็นครูมีความเสียสละทุ่มเทในการทำงาน  ฝึกฝนทักษะกีฬาตะกร้อลอดห่วงให้เด็กนักเรียนตั้งแต่วัยเด็ก  จนนักเรียนนำความสามารถพิเศษในด้านตะกร้อลอดห่วงเป็นใบเบิกทางในการศึกษาต่อ นักเรียนจนประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับเยาวชนแห่งชาติ  กีฬาแห่งชาติ กีฬาชิงแชมป์ประเทศไทย ทำให้นักเรียนติดทีมชาติ  มีอาชีพและได้รับทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรีจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้าน โรงเรียนและจังหวัด จนได้รับรางวัลผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมจากการแข่งขันกีฬาระดับชาติ

ทั้งนี้ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” หรือ Princess Maha Chakri Award เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้มีผลงานดีเด่น สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษา กรอบแนวคิดหลักของการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสำหรับประเทศไทย คือ “ครู” ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณูปการต่อการศึกษา โดยสังคมไทยให้การยอมรับและการยกย่องร่วมกันว่าเป็นครูผู้เสียสละ ทุ่มเทให้แก่การทำงานเพื่อลูกศิษย์ตลอดชีวิตการทำงานของตน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจึงเป็น “รางวัลแห่งความสำเร็จของชีวิตความเป็นครู”

มนสิชา  คล้ายแก้ว