In News
นายกฯหารือสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เสนอ3ข้อริเริ่มร่วมกันของอาเซียนแบค
กรุงพนมเปญ-นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการหารือร่วมกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ย้ำการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของภาคเอกชน ในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน
เมื่อ (10 พฤศจิกายน 2565) เวลา 16.30 น. ณ โรงแรมสกคา กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (อาเซียนแบค) โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 9 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียน ร่วมด้วย ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้
นายกรัฐมนตรีขอบคุณอาเซียนแบคสำหรับข้อริเริ่มต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต และเห็นว่า ภาคเอกชนซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สามารถช่วยผลักดันการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อความเป็นเอกภาพในการบรรลุเป้าหมายสำคัญของอาเซียนได้ ดังนี้
ประการแรก การยกระดับอาเซียนสู่ดิจิทัล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการค้าและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยอาเซียนควรเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของภูมิภาคให้ทันสมัยและสอดคล้องกับรูปแบบการค้าใหม่ ซึ่งจะช่วยเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจและผลักดันการบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียนในเชิงลึกยิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทย ได้ริเริ่มการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลของประเทศ (National Digital Trade Platform: NDTP) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและขั้นตอนในกระบวนการทางการค้าที่เกี่ยวข้อง และเมื่อระบบเชื่อมโยงกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) จะยิ่งทำให้การค้าของอาเซียนขยายตัวมากขึ้น
ประการที่สอง การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีย้ำถึงพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส โดยไทยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาด้านภูมิอากาศ โดยยังได้นำโมเดล BCG มาเป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันการสนับสนุนเจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมของอาเซียนในประชาคมโลก
ประการที่สาม การเสริมสร้างขีดความสามารถของ MSMEs ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจอาเซียน โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่อาเซียนแบคให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถของ MSMEs ให้สามารถแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อลดความเลื่อมล้ำทางดิจิทัล อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวต้องควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีของอาเซียนที่มีอยู่ เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทางการค้าอย่างเต็มที่
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำความพร้อมของไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนกับภาครัฐอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน และเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่มูลค่าโลก พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า ศักยภาพของภาคเอกชนอาเซียนจะนำมาซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภูมิภาค