In News

สธ.ประกาศคุมช่อดอกกัญชาขายต้องขอ หลังมีหลายภาคส่วนแสดงความกังวล



กรุงเทพฯ-สธ.รับฟังข้อกังวลหลายภาคส่วน ออกประกาศคุมเข้มช่อดอกกัญชาไม่ให้ใช้ผิดวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการผลิตอุตสาหกรรม

วันที่ 12 พ.ย.65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 65  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 โดยเป็นการปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิ.ย. 65 มีสาระสำคัญในการควบคุมการใช้ประโยชน์จากส่วนของช่อดอกกัญชาไม่ให้มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร

“ก่อนที่รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขจะลงนาม ประกาศฉบับใหม่นี้ได้ผ่านการเห็นชอบของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชน ซึ่งได้แสดงความกังวลต่อกรณีที่อาจมีการนำช่อดอกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จึงควรปรับปรุงข้อกฎหมายให้มีความชัดเจน เข้มงวดยิ่งขึ้น คุ้มครองกลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกันประชาชนยังสามารถใช้ประโยชน์กัญชาในการดูแลสุขภาพได้ กัญชายังคงได้รับการส่งเสริมให้เป็นพืชสำคัญทางการแพทย์และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประกาศฉบับใหม่ซึ่งจะมีผลบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษานี้ กำหนดให้ส่วนของช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม ผู้ใดประสงค์จะศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปเพื่อการค้า จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 46 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 โดยผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา การนำไปใช้ และจำนวนที่เก็บไว้ ณ สถานประกอบการ และให้รายงานข้อมูลต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีกำหนดด้วย ในส่วนของผู้รับใบอนุญาตให้ส่งออก ต้องแจ้งรายละเอียดการส่งออกต่อผู้อนุญาตเป็นรายครั้ง

โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตเพื่อศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปเพื่อการค้า ตามมาตรา 46 อยู่ก่อนประกาศฉบับใหม่จะมีผลบังคับจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศฉบับใหม่ด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประกาศฉบับใหม่ยังได้เพิ่มความเข้มงวดเพื่อควบคุมการจำหน่ายช่อดอกของกัญชา โดยห้ามจำหน่ายให้กับกลุ่มเปราะบางได้แก่ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร นักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา ห้ามจำหน่ายในสถานที่ประกอบการ เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม

รวมถึงห้ามจำหน่ายผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ห้ามโฆษณาทุกช่องทางเพื่อการค้า ที่สำคัญยังห้ามจำหน่ายในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพีธีกรรมทางศาสนา , หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก , สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุกด้วย