EDU Research & ESG

การศึกษาไทย-จีนร่วมหนุนประชุมAPEC เปิดเวทีเสวนา'พลังงานอัจฉริยะ'



กรุงเทพฯ-ภาคการศึกษาไทย-จีนร่วมจัดเสวนาออนไลน์ “APEC Energy Forum 2022” จับประเด็นปัญหาพลังงานที่กำลังรุกรานโลก  2 อดีตรัฐมนตรีพลังงานของไทยร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ชี้ทางออกพลังงานทดแทน-พลังงานสีเขียว   ประธานGWMมองเป็นยุคทองของไทยสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565  ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน     มหาวิทยาลัยประชาชนแห่งประเทศจีน  และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีฮ่องกง    ได้ร่วมกันจัดการเสวนาออนไลน์เรื่อง “APEC Energy Forum 2022 : APEC คลังสมองพลังงานอัจฉริยะ” โดยฝ่ายไทย จัดที่ห้องประชุม จันทร์ประภัสสร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม   งานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่กรุงเทพมหานคร

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ได้ร่วมกล่าวเปิดการเสวนาว่า  ปัญหาพลังงานเป็นปัญหาที่กำลังเกิดในปัจจุบันและอนาคต  ราคาพลังงานที่สูงขึ้นมากในขณะนี้ได้ส่งผลต่อประชาชนทั่วโลกทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและที่พัฒนาแล้ว   ทางออกของปัญหาคือการมุ่งสู่พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสีเขียว  ซึ่งเป็นทิศทางของโลกที่จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนด้วย

“วันที่ 18-19 พฤศจิกายนที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ก็หวังว่าประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จะร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ได้” นายพิชัยกล่าว   

ในโอกาสเดียวกันนี้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกท่านหนึ่ง  ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การใช้พลังงานสีเขียวและแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทย” มีข้อความตอนหนึ่งว่า  นโยบายการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าในไทยประเทศไทยถือว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น  มีการจัดซื้อและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะเพื่อเป็นตัวอย่างนำร่องเพื่อทดลองตลาด  ส่วนมาตรการทางด้านภาษีได้กำหนดไว้ในอัตราที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง  มีการส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิต ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล  ยกเว้นอากรการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์  รวมถึงมาตรการในการลดภาษีสรรพาสามิต

ข้อมูลจากกรมขนส่งทางบก ระบุยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2565 ว่ามีการจดทะเบียนไปแล้วถึง 12,690 คัน แบ่งออกเป็น รถจักรยานยนต์ 6,647 คัน รถยนต์ 5,625 คัน รถโดยสารและรถบรรทุกอีก 292 คัน ถือเป็นความสนใจและแนวโน้มธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและคาดว่าแนวโน้มข้างหน้าอาจมีมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการแห่จองรถยนต์ไฟฟ้า BYD เป็นจำนวนมาก  ถือเป็นการตอบรับที่ดีของคนไทยและยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

 “พลังงานไฟฟ้าในอนาคตที่จะมีความต้องการมากขึ้น โครงสร้างพลังงานต้องปรับให้สอดคล้องกับพื้นฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด   เรื่องของต้นทุนในการผลิต วิจัย พัฒนาทรัพยากรที่เกิด โดยเฉพาะแบตเตอรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ  จำเป็นต้องตระหนักและมาพร้อมๆกันกับการเป็นฐานอุตสาหกรรมที่ครบวงจรและมีความพร้อม” นายสนธิรัตน์กล่าว

นายจาง  เจียหมิง ประธานบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง เขตอาเซียนกล่าวว่า  การพัฒนาอย่างยั่งยืนกลายเป็นฉันทามติของทั่วโลก  อุตสาหกรรมยานยนต์จะอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่   พลังงานใหม่อัจฉริยะจะเป็นแนวทางการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกที่ไม่ใช่เพียงวิวัฒนาการจากพลังงานเชื้อเพลิงสู่พลังงานใหม่แต่ยังเป็นการพัฒนาที่บูรณาการกับอินเตอร์เน็ต 

ประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้  อุตสาหกรรมรถยนต์ พลังงานใหม่ และอุตสาหกรรมรถยนต์อัจฉริยะของประเทศไทย อยู่ในช่วงเวลาการเติบโตซึ่งเป็นยุคทองที่ไม่เพียงเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0   แต่ยังสามารถส่งเสริมความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย 

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและพลังงานใหม่สำหรับการขนส่งที่กำลังเป็นที่นิยม” วิทยากรประกอบด้วย ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี  ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน  นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงาน กิจการภายนอกองค์กรและส่วนราชการสาขาประเทศไทย  บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง  ประเทศไทย จำกัด  นางสาววรรณา ลอลือเลิศ  กรรมการผู้จัดการ นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง33   รศ.ดร.จรัล  รัตนโชตินันท์  ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและการบริหารงานก่อสร้าง  มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  และพลอากาศตรี ดร.ณัฐพัชร์  เรืองมณีญาต์  คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม  เป็นผู้ดำเนินรายการ