In Bangkok

 กทม.ปรับแบบสร้างสะพานข้ามเจ้าพระยา แยกเกียกกายลดผลกระทบประชาชน



กรุงเทพฯ-สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ปรับรูปแบบโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแยกเกียกกาย ลดผลกระทบประชาชน

นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวกรณีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีข้อสังเกตถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกายและผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยบริเวณชุมชนกำแพงเพชร 5 ว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกายเป็นโครงการที่ กทม.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ตามมติคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก รวมทั้งเป็นโครงการเร่งด่วนลำดับแรกที่อยู่ในแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวมของกรุงเทพฯ เชื่อมโยงและพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและลดระยะเวลาการเดินทาง สามารถรองรับการจราจรบริเวณโดยรอบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่และศูนย์คมนาคมพหลโยธินได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม โดยโครงการดังกล่าว แบ่งการก่อสร้างเป็น 5 ช่วง มีแนวเส้นทางเริ่มจากถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ ข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านแยกเกียกกาย ถนนทหาร แยกสะพานแดง ถนนประดิพัทธ์ ถนนกำแพงเพชร 5 ถนนกำแพงเพชร มายังถนนพหลโยธินบริเวณสวนจตุจักร

สำหรับรูปแบบการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ได้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดตามหลักวิศวกรรม เพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้ทาง โดยแนวเส้นทางที่กำหนดได้พิจารณาความเหมาะสม รวมทั้งผลกระทบที่ประชาชนอาจจะได้รับอย่างรอบด้านแล้ว พบว่าเป็นแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด อีกทั้งแนวเส้นทางดังกล่าวเป็นไปตามที่กำหนดในแผนผังแสดงโครงข่ายการคมนาคมและขนส่งท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 สาย จ.4 ซึ่ง กทม.จะต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงดังกล่าว โดยการก่อสร้างจะต้องจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของเอกชนและขอใช้พื้นที่ของหน่วยงานทหารเพื่อการก่อสร้าง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชนในฝั่งธนบุรีและจ่ายค่าเวนคืนแล้วบางส่วน สำหรับฝั่งพระนครได้จ่ายค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้างให้หน่วยงานทหารตามแนวถนนทหารแล้ว มีพื้นที่พร้อมในการก่อสร้างบริเวณดังกล่าว โดยการจ่ายค่าทดแทนให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนเป็นไปอย่างเป็นธรรมและตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ส่วนกรณีข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในชุมชนกำแพงเพชร 5 คณะผู้บริหาร กทม.ได้พิจารณาปรับรูปแบบโครงการฯ มาสิ้นสุดที่ถนนทหารในโครงการช่วงที่ 3 และให้ยกเลิกโครงการในช่วงที่ 4 ถนนประดิพัทธ์ ถนนกำแพงเพชร 5 และช่วงที่ 5 ถนนกำแพงเพชร ถนนพหลโยธิน บริเวณสวนจตุจักร ซึ่งจะทำให้ชุมชนกำแพงเพชร 5 ไม่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนและการปรับรูปแบบดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันมีระบบขนส่งมวลชนรองรับการเดินทางในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อและมีโครงการปรับปรุงถนนหลายสาย เพื่อรองรับปริมาณการจราจรบริเวณโดยรอบสถานีกลางบางซื่อแล้ว ขณะที่กรณีการคัดค้านโครงการฯ จากผู้ออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ คณะกรรมการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกายที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมพิจารณาอย่างรอบด้านและมีมติเห็นชอบรูปแบบตามที่ กทม.เสนอ โดยปรับแนวสะพานด้านฝั่งธนบุรีไปชิดกับวัดฉัตรแก้วจงกลนี และฝั่งพระนครปรับแนวไปชิดกับวัดแก้วฟ้าจุฬามณี รวมทั้งปรับรูปแบบทางขึ้น - ลง โดยตัดทางขึ้นลงให้บริเวณพื้นที่รัฐสภาส่วนที่ติดกับโครงการสะพานเกียกกายมีช่องจราจรด้านล่างสะพานบริเวณชิดรัฐสภาเปิดโล่งและไม่ใช่พื้นที่ของรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โครงการฯ อยู่ในขั้นตอนเสนอตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อก่อสร้างโครงการฯ ซึ่งกระบวนการเพื่อออกกฎหมายดังกล่าวได้ดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งเรื่องการเผยแพร่ข้อมูล การจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการฯ รวมทั้งได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตามขั้นตอนของกฎหมายด้วยแล้ว ส่วนมาตรการการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนจะเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนฯ บัญญัติไว้

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีข้อสังเกตถึงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการดังกล่าวว่า เนื่องจาก“สะพาน” ถือเป็น “ทางหลวง” ตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง อย่างไรก็ตาม โครงการประเภททางหลวง หรือถนนตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ต้องจัดทำรายงาน EIA ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องเป็นทางหลวง หรือถนนที่ตัดผ่านพื้นที่ ดังนี้ 1) พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2) พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ 3) พื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 4) พื้นที่ป่าชายเลนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 5) พื้นที่ชายฝั่งทะเลในระยะ 50 เมตร ห่างจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ 6) พื้นที่ที่อยู่ใน หรือใกล้พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแหล่งมรดกโลกที่ขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกตามอนุสัญญาระหว่างประเทศในระยะทาง 2 กิโลเมตร และ 7) พื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในระยะทาง 1 กิโลเมตร ยกเว้นถนนผังเมืองตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ข้างต้น โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกายของ กทม.เป็นโครงการถนนตามแนวผังเมือง สาย จ 4 จึงไม่เข้าข่ายที่จะต้องศึกษาและจัดทำรายงาน EIA ในขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้าง