In Bangkok

กทม.แจงรพ.ในสังกัดดูแลรักษาผู้ป่วย ตามหลักการแพทย์ทุกขั้นตอน



กรุงเทพฯ-นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวกรณีมีการร้องเรียนโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.ย่านจรเข้น้อย เขตลาดกระบัง รักษาผู้ป่วยผิดพลาดตัดขาซ้ายออกตั้งแต่ช่วงหัวเข่า ทั้งที่มารักษาบาดแผลที่ฝ่าเท้าเพียงเล็กน้อยว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ผู้ร้องได้เข้ารับการรักษาใน รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ก.ย.62 ออกจาก รพ.วันที่ 8 ต.ค.62 เข้ารับการรักษาใน รพ.ทั้งหมด 35 วัน โดยมา รพ.ด้วยอาการเท้าซ้ายปวดบวม มีหนอง ทำแผลเองที่บ้าน เวียนศีรษะ อ่อนเพลียไม่มีแรง แพทย์ผู้รักษาได้วินิจฉัยว่า มีการติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อเท้าซ้าย ประกอบกับผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีภาวะซึมเศร้า และไม่ได้รับประทานยาจิตเวชอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระหว่างที่รักษาใน รพ.ได้รับการรักษาโดยการทำแผลและให้ยาปฏิชีวนะ แต่แผลลุกลามติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อมากขึ้นและติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย การทำแผลจึงไม่สามารถทำให้หายได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มขึ้น ทีมแพทย์ผู้รักษาได้ปรึกษาญาติและผู้ร้องร่วมกันวางแผนการรักษา เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วย โดยทั้งญาติและผู้ป่วยเข้าใจการรักษาและให้ความยินยอมในการตัดขาหลังจากผ่าตัด แล้วทำแผลทุกวันจนแผลหายดีแพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ รวมทั้งให้คำแนะนำทำขาเทียมที่สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ และการขึ้นทะเบียนผู้พิการและเบี้ยยังชีพ นอกจากนั้น รพ.ได้ติดตามเยี่ยมบ้านเป็นระยะ รวมถึงประสานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร เรื่องการขอรับความช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และประสานผู้ร้อง เพื่อเตรียมเอกสารประกอบการยื่นขอความช่วยเหลือ แต่ผู้ร้องปฏิเสธการขอความช่วยเหลือจาก สปสช. อย่างไรก็ตาม รพ.จะร่วมกันหาแนวทางการช่วยเหลือผู้ร้อง เพื่อยื่นขอความช่วยเหลือในช่องทางอื่นต่อไป

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ตระหนักและใส่ใจต่อการให้บริการของผู้มารับบริการเป็นสำคัญและดำเนินการรักษาตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ จากกรณีที่เกิดขึ้น รพ.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนปฏิบัติการรักษาผู้ป่วยตามหลักทางการแพทย์ทุกขั้นตอน โดยร่วมกันวางแผนการรักษา เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำหลังการผ่าตัดรักษาให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง เพื่อสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต ได้รับสิทธิในการทำขาเทียม ฟื้นฟูสมรรถภาพ พร้อมทั้งให้บริการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง