In Bangkok
กทม.เตรียมพร้อมด้านการแพทย์แลสธ. รับมือปัญหาฝุ่น PM2.5

กรุงเทพฯ-สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ กทม.เตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขรับมือปัญหาฝุ่น PM2.5
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ว่า กรุงเทพมหานครโดย สนอ.เตรียมความพร้อมรับมือปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่ 1 ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ร่วมกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงานและสถานประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่น รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิด จัดหานวัตกรรม หรืออุปกรณ์สำหรับฟอกอากาศในพื้นที่ปิด เพื่อติดตั้งในบริเวณที่เหมาะสม ระดับที่ 2 ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. พิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายออกคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุงกรณีสถานประกอบกิจการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งให้คำแนะนำและกำกับดูแลฌาปนสถานปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ควบคุมการเผาในที่โล่ง รณรงค์ลดการจุดธูป เผากระดาษ หรือวัสดุในพิธีกรรม แนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองด้วย Web Application 4health พัฒนารูปแบบห้องปลอดฝุ่นและประสานหน่วยงานพิจารณาเปิดห้องปลอดฝุ่นในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน หรือสถานที่อื่น ๆ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง จัดทีมปฏิบัติการและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกหน่วยบริการสาธารณสุข แจกหน้ากากอนามัย
ส่วนระดับที่ 3 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 มคก./ลบ.ม. ดูแลป้องกันผลกระทบ ในโรงเรียน สนับสนุนหน้ากากอนามัยสำหรับกลุ่มเสี่ยง และระดับที่ 4 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ร่วมกับสำนักงานเขตสนับสนุนการลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วนบริเวณ Low Emission Zone ขอให้สถานประกอบการหลอมโลหะ หรือกิจการที่ใช้หม้อต้มไอน้ำด้วยเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล ชีวมวล และถ่านหินในพื้นที่วางแผนลดการผลิต 100% เพื่อลดการเผาไหม้เชื้อเพลิง รวมถึงพิจารณาออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กรณีที่สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลงและเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นติดต่อกัน 3 วัน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มอบอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญให้ผู้อำนวยการเขต ซึ่ง สนอ.ได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมและแนวทางการออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เพื่อให้สำนักงานเขตเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ รวมทั้งเตรียมใช้มาตรการทางกฎหมายในการออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขกรณีที่สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง ตลอดจนบูรณาการข้อมูลทั้งด้านสถานการณ์ฝุ่นละอองและข้อมูลด้านสุขภาพร่วมกันระหว่าง สนอ. สำนักการแพทย์ และสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินและเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงวิกฤต รวมทั้งเตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค จัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยหากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพมีมาตรการ ดังนี้ (1) ฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของอาคารที่ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล (รพ.) (2) เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีฝุ่นละออง PM2.5 เกิน 50 มคก./ลบ.ม. (3) สั่งการให้ รพ.สังกัด กทม. เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศที่ รพ.ตากสิน รพ.กลาง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.ราชพิพัฒน์ และ รพ.สิรินธร เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน รวมทั้งให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละออง PM 2.5 ขณะเดียวกันได้จัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของ รพ.ในสังกัด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง
นอกจากนั้น ยังร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน (ห้องเรียนสู้ฝุ่น) เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละอองและเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา ครู นักเรียนในการรับมือกับฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างจิตสำนึกการไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ตลอดจนร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเครือข่ายนักวิจัย จัดเสวนาวิชาการรับฟังความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพฯ รวมถึงข้อเสนอแนะอื่น ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นเอกภาพ ได้ผลลัพธ์เป็นไปตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5