In News

นายกฯคิกออฟมาตรการช่วยเหลือชาวนา เยี่ยมชมนิทรรศการยกระดับเกษตรกร



เพชรบูรณ์-นายกฯ เยี่ยมชมนิทรรศการการจัดการผลผลิต เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรกรอย่างยั่งยืน ชื่นชมความร่วมมือภาครัฐ-ประชาชน ร่วมพัฒนา ขับเคลื่อน ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนหน้านี้ นายกฯ เป็นประธาน KICK OFF มาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 65/66 ที่ จ.เพชรบูรณ์ ย้ำรัฐบาลมุ่งมั่นสร้างประโยชน์และความมั่นคง มั่งคั่งให้คนไทย ขอทุกภาคส่วนร่วมกันดูแลเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าอย่าง

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2565) ภายหลังเป็นประธานในพิธี KICK OFF มาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ณ ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมนิทรรศการโครงการจัดการผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรกรอย่างยั่งยืนผลผลิตมันสำปะหลังปีการผลิต 2565 /66 โดยสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตได้ตรงตามความต้องการของตลาด ขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม มีตลาดรับซื้อแน่นอน ได้รับเงินปันผลเพิ่ม รู้และเข้าใจช่องทางออนไลน์ของธนาคาร และสามารถจัดการหนี้ได้ตามศักยภาพ นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาการขาดทุน ช่วยลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ได้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายสถาบันการเกษตร

จากนั้น นายกรัฐมนตรีชมผลิตภัณฑ์ขิงแปรรูป โดยกิจกรรมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทฤษฎีใหม่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะขาม โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรตะกอนขี้นาคแผนใหม่ ผลิตผลทางการเกษตร เช่น ผักสลัด ผักชี ผักกาด และผักพื้นเมืองโดยวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านวังร่อง และกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านเตาไหเหนือ โครงการข้าวรักษ์โลก BCG model ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาข้าวอย่างยั่งยืนตามแนวทางของรัฐบาล โดยสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีชมการสาธิตตัวอย่างการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว การวางแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ การจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ การปรับปรุงสภาพการเก็บรักษา ประโยชน์จากการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี และลักษณะเมล็ดพันธุ์ข้าวต่าง ๆ รวมทั้งการใช้โดรนเพื่อการเกษตร และการสาธิตโรงสีข้าวชุมชน นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วประเทศ โดยเกษตรกรสามารถลงทะเบียนผ่านศูนย์ข้าวชุมชนระดับหมู่บ้านได้ทั่วประเทศ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าว และเกษตรกรทุกครัวเรือนทั่วประเทศไทยมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีสำหรับการเพาะปลูกและขยายพันธุ์ในอนาคต

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลการดำเนินงานที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและประชาชน ได้ร่วมมือกันพัฒนา ขับเคลื่อน และดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการพัฒนา วิจัย และแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นการเปิดโอกาสใหม่ในการนำผลิตภัณฑ์ในชุมชนมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทย อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสู่ตลาดระดับโลกได้มากขึ้นด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว

นายกฯ เป็นประธาน KICK OFF มาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 65/66 ที่ จ.เพชรบูรณ์ 

ก่อนหน้านี้ ณ สนามหน้าศาลากลาง จังหวัดเพชรบูรณ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี KICK OFF มาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ พี่น้องประชาชนและเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เข้าร่วมงาน

นายกรัฐมนตรีรับชมวีดิทัศน์การดําเนินงานภายใต้มาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งการดำเนินงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องนี้ นอกจากช่วยให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนจากการผลิตที่เหมาะสมแล้ว ยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงภัยธรรมชาติต่าง ๆ จึงถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกร และกระตุ้นระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล จากนั้น นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ และนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ตามลำดับ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวพบปะเกษตรกรและประชาชนว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ขอบคุณผู้นำชุมชน เกษตรกรและประชาชนทุกคนด้วยใจจริง ถึงแม้จะได้มาตรวจราชการและติดตามงานต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์หลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่มาไม่เคยผิดหวัง ทุกคนมีความรักความสามัคคีกันดีมาก พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรกรมาโดยตลอด และมีความมุ่งมั่นในการดูแลให้มีความมั่นคงทางรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงมีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวและรายได้ของชาวนา โดยผลักดันการจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เพื่อบริหารจัดการข้าวให้ “ไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก” เพื่อการก้าวไปสู่เกษตรมูลค่าสูงภายใต้ BCG โมเดล สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนแผนอื่น ๆ และนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการทำเกษตร  ดังนั้นเกษตรกรต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถทำการเกษตรได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เพียงพอและอยู่ดีมีสุข โดยได้กำหนดเป้าหมายให้ชุมชนชาวนาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและสร้างเครือข่ายขยายผลรวมกลุ่มเป็นชุมชนข้าว เพื่อพัฒนาการผลิตข้าวและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งศูนย์ข้าวชุมชน (ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน) ชุมชนแปลงขยายพันธุ์ข้าว ชุมชนข้าวแปลงใหญ่และชุมชนข้าวอินทรีย์ ตลอดจนการพัฒนาชาวนาในชุมชนข้าวให้เป็นชาวนาปราดเปรื่อง ปราชญ์ชาวนา และชาวนารุ่นใหม่ไปพร้อม ๆ กัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD - 19) ที่ยังมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวทั้งเชิงบวกและเชิงลบนั้น อาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพ รวมทั้งพยายามสร้างโอกาสเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพให้เข้มแข็ง ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนมีการปรับตัว ปรับแนวคิด ให้สอดคล้องกับแนวทาง BCG โมเดล ลดการใช้สารเคมี เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร รวมถึงการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาปรับใช้อย่างเหมาะสมด้วย เมื่อสามารถบริหารจัดการต้นทุนให้ลดลงได้จะช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย เป็นต้น

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงนโยบายของ ธ.ก.ส. ที่ได้ริเริ่มการสร้างชุมชนต้นแบบ การออกแบบโครงสร้างเชิงพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้เป็นกระดูกสันหลังที่ตั้งตรง แข็งแรง มีรอยยิ้ม พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลจะพยายามอย่างสุดความสามารถในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อดูแลประชาชน โดยขอให้ทุกคนมีความภาคภูมิใจในการอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความสุข เป็นดินแดนแห่งสันติใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารและสังคมพหุวัฒนธรรม มีความรักความสามัคคีกันโดยไม่แตกแยก

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณ ธ.ก.ส. ที่เป็นตัวแทนรัฐบาลในการดูแลเกษตรกรผ่านโครงการและมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ เป็นอย่างดี และขอให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเติบโต พร้อมเดินหน้าประเทศไทยไปด้วยกัน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือของภาครัฐ และองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน

จากนั้น นายกรัฐมนตรีทําพิธีกดปุ่มโอนเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวฯ ในกลุ่มภาคเหนือ รวม 804,017 ราย วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการโอนเงินไปยัง ธกส. สาขาทั่วประเทศเพื่อเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสักขีพยานในการมอบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวฯ โดยผู้แทนเกษตรกรนำสมุดบัญชีเงินฝากมาบันทึกรายการ เพื่อปรับยอดเงินที่ได้รับจากการโอนเงินในโครงการฯ ตามกรอบงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นการโอนเงินงวดแรกตามมาตรการช่วยเหลือและยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไปยังชาวนาทั่วประเทศ จำนวน 14,531 ล้านบาท จากเป้าหมายรวม 81,265 ล้านบาท ผ่านโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ และโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 พร้อมมาตรการคู่ขนาน โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ที่เกษตรกรไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แล้วยังได้รับเงินช่วยเหลือค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกอีก 1,500 บาทต่อตัน และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% มุ่งเป้าหมายเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 4.68 ล้านครัวเรือน