In Bangkok

สัญจรเขตบางพลัดปัญหาหลัก'น้ำท่วม' กำชับเขตขุดลอกคูคลองลอกท่อต่อเนื่อง 



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สัญจรเขตบางพลัด ชี้ปัญหาหลักคือน้ำท่วมกำชับเขตขุดลอกคูคลองและลอกท่ออย่างต่อเนื่อง 

(26 พ.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังจากการประชุมติดตามปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตบางพลัด ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ว่า เขตบางพลัดเป็นเขตที่อยู่ด้านเหนือสุดของกรุงเทพฯ ฝั่งธน มีอาณาเขตติดกับจังหวัดนนทบุรี มีพื้นที่ 11.36 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 87,520 คน เป็นเขตที่มีขนาดกลาง 

สำหรับปัญหาหลัก ๆ คือ น้ำท่วม เพราะเป็นพื้นที่เปราะบางที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีจุดฟันหลออยู่ 16 จุด ที่ผ่านมามีจุดบางจุดซึ่งมีน้ำซึมเข้ามาได้บ้าง เช่น บริเวณจุดขนาบน้ำ ตอนนี้มีโครงการอุดแนวฟันหลอและทำเขื่อนเพิ่มเติมซึ่งได้เร่งรัดอยู่ ท่าน ส.ก.ภิญโญ ป้อมสถิตย์ เป็นห่วงเรื่องการขุดลอกคลอง และท่อระบายน้ำปัจจุบัน ต้องมีการเร่งขุดลอกคูคลองเพิ่มขึ้น ตามคลองย่อย ๆ ที่มีอยู่ทั่วในพื้นที่ รวมทั้งลอกท่อระบายน้ำในพื้นที่ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเรื่องที่ได้รับร้องเรียนเยอะคือเรื่องทางเท้า เช่น ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งมีทั้งกรณีทางเท้าไม่เรียบ และตั้งวางกีดขวาง ได้สั่งการให้สำนักการโยธาและสำนักเทศกิจ เร่งรัดดูแลเรื่องเป็นระเบียบเรียบร้อย 

โรงเรียนของเขตบางพลัดมีทั้งหมด 11 โรงเรียน เป็นนักเรียนประถม 10 แห่ง มัธยม 1 แห่ง ซึ่งมีจำนวนนักเรียนน้อยลง ตอนนี้มีโครงการที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว คือ เพิ่มอาหารกลางวันที่มีผักสดเป็นสลัดให้นักเรียน สัปดาห์ละ 1-2 วัน ระหว่างทดสอบ ซึ่งในต่างประเทศมีหลายแห่งที่มีสลัดบาร์ให้เด็กเลือกทานผักสด คือ เราไปตรวจโรงเรียนหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็นอาหารที่เป็นผักต้ม หรือผัดผัก เราอยากให้เด็กมีทางเลือก ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี มีโรงเรียนที่เริ่มทำสลัดบาร์ขึ้นมา เด็กเริ่มทานผักสดมากขึ้น ตอนแรกไม่มีคนทาน แต่พอทำไปมีการทำน้ำสลัดเพิ่ม ซึ่งเป็นรายละเอียดเล็กๆ แต่เชื่อว่ามีผลระยะยาวในแง่สุขอนามัยของเด็ก  

• พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น ชวนประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด • 

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ ประมาณ 1,300 - 1,500 คน/วัน ยอดผู้ป่วยที่นอนรักษาในโรงพยาบาลประมาณ  200 คน/วัน ส่วนใหญ่เป็นคนไข้ที่ไม่มีอาการหรือว่าอาการน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการได้รับวัคซีน โดยอัตราการครองเตียงยังสามารถรับได้ ส่วนอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่  2-4 คน/วัน การหมุนเวียนของผู้ป่วยทำให้โรงพยาบาลยังสามารถรับมือได้อยู่ในส่วนของยายังมีเพียงพอ ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์และยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างน้อย 4 เดือน 

ขณะนี้ ยังมีการให้บริการวัคซีนทุกศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาล ให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครั้งหลังสุดที่ผ่านมานานแล้ว เกิน 3-4 เดือน ขอให้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข ในวันพุธ ศุกร์ ช่วงบ่าย และวันเสาร์ ช่วงเช้า หรือรับบริการที่โรงพยาบาล โดยสามารถ walk in ได้ โดยมีวัคซีนไฟเซอร์มีทั้งฝาสีส้ม สีแดง สีม่วง สำหรับทุกช่วงวัย เด็กเล็ก ๆ ช่วงอายุ 5 ขวบ ไม่เกิน 12 และ 13 ปีขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูหนาวมีฝนประปรายบ้างทำให้มีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากได้รับวัคซีนและรักษาระยะห่าง ก็สามารถช่วยป้องกันได้ 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เสริมว่า ในส่วนของการฉีดวัคซีน นอกเหนือจากศูนย์บริการสาธารณสุขแล้ว ยังมีให้บริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร อาคารกีฬาเวศน์ 1 ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ซึ่งจะสิ้นสุดการให้บริการในวันพรุ่งนี้ แต่เราจะมีการปรับขยายการให้บริการ ไปอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากจะมีการใช้พื้นที่และผู้มาใช้บริการไม่เยอะแล้ว ซึ่งน่าจะขยายการให้บริการออกไปอีก 1 เดือน เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ซึ่งจะได้แจ้งข้อมูลให้ทราบในเว็บไซต์ กทม. ต่อไปในอนาคตจะมีการให้บริการเชิงรุกในชุมชนเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น โดยจะจัดทีมแพทย์ให้ตอบโจทย์คนมากขึ้น ซึ่งจะเน้นให้ประชาชนสะดวกที่สุดเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในหลาย ๆ ทาง 

• เตรียมมาตรการรับมือความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ • 

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า จะใช้แผนที่รัดกุมมากขึ้นเหมือนแผนลอยกระทง ไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่จัดงาน โดยเฉพาะการเว้นให้มีพื้นที่เข้าออกของเจ้าหน้าที่ได้โดยง่ายและรวมถึงการดูความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบพื้นที่ ตอนนี้ กทม.ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการที่มีการจัดงานใหญ่ ๆ แล้ว เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการจัดงานฉลองอยู่ที่หลักแสน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรีมความพร้อมกับผู้ประกอบการ 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เสริมว่า คงต้องดูทั้งในมิติของเรื่องโควิดและเรื่องความปลอดภัยด้วย ซึ่งในเดือนหน้าจะมีงานเทศกาลที่สำคัญคืองานกาชาด ตั้งแต่วันที่ 8 -18 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งงานนี้จะเป็นงานหนึ่งที่คาดว่าจะมีคนมามาก เพราะว่าเป็นงานที่หยุดการจัด On-Site ไป 2 ปี เราได้มีการวางแผนเรื่องการจราจร การดูแลความปลอดภัย ซึ่งงานนี้เป็นงานแรกก่อนปีใหม่ที่ต้องดูให้ดี ได้มีการเตรียมพื้นที่ เตรียมการประชุมหารือกับผู้ดำเนินการ 

ทั้งนี้ กิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ช่วงเช้าก่อนการประชุม คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารเขตบางพลัด ได้ร่วมปลูกต้นทองอุไร จำนวน 23 ต้น บริเวณสวนหย่อมใต้ทางต่างระดับถนนสิรินธร พื้นที่ 3 งาน 10 ตารางวา ซึ่งเขตบางพลัดตั้งเป้าให้เป็นสวน 15 นาที จากนั้นในช่วงบ่าย ได้ลงพื้นที่พบประชาชนชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลนี ซอยจรัญสนิทวงศ์ 94 ซึ่งเป็นชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยา และติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ช่วงที่ 2 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 92 โดยระหว่างทางได้ตรวจสอบจุดลักลอบการทิ้งขยะ บริเวณถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ จากนั้นได้เดินทางไปยังสถาบันอาหาร ซอยอรุณอมรินทร์ 36 พร้อมชมนิทรรศการ“ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย หรือ Thai Food Heritage” ซึ่งเป็นสถานที่เรียนรู้และรวบรวมองค์ความรู้ด้านอาหารไทยแห่งแรกของประเทศไทย โดยสถาบันอาหาร องค์กรเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม              

สำหรับกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ในวันนี้มี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร พ.ต.อ. ภิญโญ ป้อมสถิตย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางพลัด นางสาวอารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางพลัด สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม