In Bangkok

ผู้ว่าฯกทม.ปาฐกถาประชุมใหญ่ม.นวมินทร์ แนวโน้มระบบบริการสุขภาพเชิงรุกคนกรุง



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯชัชชาติปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แนวโน้มระบบบริการสุขภาพเชิงรุกเพื่อคนกรุงเทพมหานคร” ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 และการประชุมวิชาการ เรื่อง “เพื่อวิถีคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร” ซึ่งสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลเกื้อการุณย์ ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 พ.ย. 65 ณ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เขตดุสิต

(27 พ.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แนวโน้มระบบบริการสุขภาพเชิงรุกเพื่อคนกรุงเทพมหานคร” ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 และการประชุมวิชาการ เรื่อง “เพื่อวิถีคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร” ซึ่งสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลเกื้อการุณย์ ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 พ.ย. 65 ณ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เขตดุสิต เพื่อให้พยาบาลและผู้สนใจมีความรู้ความเข้าใจแนวโน้มการส่งเสริมวิถีคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนในสถานการณ์จริงจากโควิด-19 และนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ต่อไป

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จริง ๆ การดำเนินการเรื่องต่าง ๆ มี 5 สเต็ป 1. เข้าใจจิตใจของคนไข้ก่อน 2. กำหนดปัญหาให้เจอ 3. หาคำตอบ 4. ทำแบบทดลอง และ 5. ขยายผล ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ ความไว้วางใจ เมื่อมีความไว้ใจก็จะเกิดความร่วมมือ ต่อมาต้องแก้ปัญหาความอ่อนแอของเส้นเลือดฝอย เพราะถ้าเส้นเลือดฝอยแข็งแรงเส้นเลือดใหญ่ก็ดีด้วย การสร้างสุขภาพดีต้องเน้นที่ระบบปฐมภูมิเป็นหลัก ต้องเป็นเจ้าของระบบปฐมภูมิที่เข้มแข็งที่สุด การดำเนินการและการบริการสุขภาพด้านต่าง ๆ ต้องทำเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น เช่น ตรวจคัดกรองสุขภาพเชิงรุก มีรถทำฟันเพิ่มขึ้น มีแผนการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ มีวัคซีนต่าง ๆ ให้เพียงพอ ทั้งนี้ในจุดไหนที่ยังเป็นฟันหลอก็พยายามเติมเต็มในส่วนขาด 

นอกจากนี้ มีแผนการเพิ่มบริการหรือสร้างส่วนการให้บริการในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ให้แต่ละโรงพยาบาลในสังกัดมีบริการสุขภาพด้านต่าง ๆ ครอบคลุมมากขึ้น  รวมถึงการสร้างคุณค่าให้ผู้สูงอายุด้วย โดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้สูงอายุได้ทำ เป็นการช่วยเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุ อีกทั้งมีโครงการตั้งอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) สำหรับสอนเทคโนโลยีให้ชุมชน และอัปเดตข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพให้ชุมชนด้วย สำหรับเรื่องสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญ โดยส่วนตัวให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1. เรื่องสาธารณสุข และ 2. เรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้า 2 สิ่งนี้ดี ทุกอย่างดีตาม และกทม.ยินดีสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ ต้องขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่สร้างบุคลากรที่ดีมีคุณภาพ