EDU Research & ESG

ชมรมครูประถมเรียกร้องไม่ให้นำเข้าร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ



ศรีสะเกษ-ที่ห้องประชุมโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ  ชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษแถลงการณ์ขอเรียกร้องต่อประธานรัฐสภาไม่ให้นำเข้าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ในวาระ 3

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565  ที่ห้องประชุมโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ  ดร.สุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้เป็นประธานแถลงการณ์ขอเรียกร้องต่อประธานรัฐสภาไม่ให้นำเข้าร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ในวาระ 3 โดยมีนายชาติชาย  นามวงศ์ นายณัฐชัย  เชิงหอม และนายอุดม  ชัยโพธิ์ รองประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ นายเอกอมร  ใจจง หัวหน้าสำนักงานและประธานยูทธศาสตร์ชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ  นายศราวุธ  วามะกัน เลขาธิการชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ นายธีรศักดิ์  พฤกษา รองเลขาชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมคณะผู้นำครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมแถลงการณ์ ในครั้งนี้

ดร.สุนทร  กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ  กล่าวว่า จากกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแสดงความเป็นห่วงในที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา ว่า กฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายปฏิรูป รื้อระบบการศึกษาหลายอย่าง และมีปัญหาในหลายมาตรา ที่จะทบทวนเป็นครั้งสุดท้ายในกรรมาธิการ จึงขอให้ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้วิปสภาไปพูดคุยกับวิปวุฒิสภาและผู้เกี่ยวข้อง ไปเจรจากันในการที่จะปรับปรุงแก้ไขประเด็นเหล่านี้เสีย ชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เรียนขอบคุณที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี เป็นที่ยิ่งที่ผู้ใหญ่ในคณะรัฐบาล ได้กรุณาห่วงใย ติดตามตรวจสอบสาระในบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันจะส่งผลประโยชน์ยิ่งต่อประเทศชาติ และให้มีการทบทวน ชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ขอแถลงจุดยืนความจำเป็นต้องปรับแก้ประเด็นสำคัญในอีกหลาย มาตรา อันเนื่องด้วยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ประเทศ ไม่ส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและสงบสุข ในสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....(ฉบับผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญฯ) คือข้อ 1.รัฐไม่จัดการศึกษา จะนำมาซึ่งความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติ สู่การล้มเจ้าไม่เอาสถาบัน จะเกิดความไม่ สงบทางสังคมและความวุ่นวายทางการเมืองการปกครอง ตามนัยมาตรา 11(1)-(3) และ 48 วรรค2 ข้อ2.เด็กและผู้ปกครองไม่ได้รับโอกาสจากครูดีที่มีมาตรฐานและคุณภาพ เพราะคนทั่วไปใครก็เป็นครูได้ การศึกษา ล้มเหลว มาตรา ม.11 34,35 และ42 ข้อ3.องคาพยพทางสังคมไทยถูกปรับเปลี่ยนไป สถานศึกษาที่เป็นสถาบันคู่ชุมชนโรงเรียนเล็กถูกยุบควบรวม ลดจำนวน ผู้บริหารและข้าราชการครู ส่งผลต่อความสงบสุขสามัคคีของคนในชาติมาตรา 14 (9) ข้อ4.ขาดการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขาดหลักธรรมาภิบาลการปกครองบ้านเมืองที่ดี ความรักชาติ ศาสนา และเคารพในสถาบัน มาตรา 6,8, 11 และม.48 วรรค 2 ข้อ5. แนวการจัดการศึกษาไม่ส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียน มาตรา8

ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ จึงขอเรียกร้องต่อประธานรัฐสภาไม่ให้นำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...บรรจุเข้าวาระการประชุมในวาระ3 และขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ที่มีความรู้ประสบการณ์และเคยทำงานเรื่องการศึกษามาอย่างเชี่ยวชาญขึ้นใหม่ โดยใช้ร่างเดิมและนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พศ.2542 เป็นต้นร่าง ด้วย

บุญทัน - ปฐมพงษ์  ธุศรีวรรณ /ศรีสะเกษ