In News
ก.คลังถก3องค์กรการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ยืนยันเก็บต่ำสุด/ไม่เอื้อนักลงทุนขาใหญ่
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลเผย กระทรวงการคลังได้มีการหารือเรื่องการจัดเก็บภาษีขายหุ้นร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ และสภาตลาดทุนไทยมาระยะหนึ่งอย่างรอบคอบแล้ว ยืนยันมิได้ยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่ อีกทั้งไทยเก็บภาษีขายหุ้นต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย
วันนี้ (3 ธ.ค.65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์โดยกำหนดให้จัดเก็บในอัตราครึ่งหนึ่งของอัตราตามประมวลรัษฎากร โดยการจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้น ปีแรกจะจัดเก็บในอัตรา 0.055% รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว ส่วนปีถัดไปจัดเก็บในอัตรา 0.11% รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว และเมื่อนำมารวมกับค่าธรรมเนียมการขายหุ้นในปัจจุบัน ผู้ขายหุ้นจะเสียภาษีขายรวมค่าธรรมเนียม ปีแรกในอัตรา 0.195% ส่วนปีถัดไปในอัตรา 0.22% ถือว่าใกล้เคียงกับภูมิภาคเอเชีย และต่ำกว่าตลาดหุ้นหลัก เช่น ฮ่องกงจัดเก็บในอัตรา 0.38% มาเลเซีย 0.29% และ สิงคโปร์ 0.20% ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศไทย โดยหลาย ๆ ประเทศ จัดเก็บอัตราเดียวกันหมดยกเว้นสหรัฐอเมริกา ที่จัดเก็บภาษีหุ้นจากกำไรการขายหุ้น (Capital Gains) ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มีการหารือเรื่องการจัดเก็บภาษีขายหุ้นร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ และสภาตลาดทุนไทย มานานกว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งวันนี้ก็ได้มีการผ่อนคลายโดยการยกเว้นเรื่องกองทุนต่าง ๆ ให้ รวมถึงการลดอัตราภาษีให้ในระยะแรก
นายอนุชาฯ กล่าวว่า “การจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้น ไม่ได้จัดเก็บทันที ยังมีเวลาให้ตลาดหุ้นปรับตัวเนื่องจากกฎหมายยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาครบ 3 เดือน หรือ 90 วัน จึงจะมีผลบังคับใช้ ดังนั้น ผู้ขายหุ้นยังมีเวลาปรับตัวและทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีขายหุ้น โดยกระทรวงการคลังยืนยันว่าไม่ได้นำแนวทางการจัดเก็บภาษีจากกำไรขายหุ้นมาใช้ เนื่องจากมีความซับซ้อน และหลายๆ ประเทศก็ไม่ได้นำมาใช้ โดยมีข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีขายหุ้น เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การยกเว้นภาษีสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 30-40 ปีแล้ว และปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน จึงเห็นควรยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์”
นอกจากนี้ ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวการเก็บภาษีหุ้น ว่าจะมีการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่นั้น เป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ทั้งนี้ การเก็บภาษีขายหุ้น มิได้ยกเว้นภาษีให้แก่นักลงทุนรายใหญ่ แต่ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับกองทุนบำนาญ ซึ่ง Market Maker คือ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาและซื้อขายผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ Market Maker และเพื่อไม่ให้กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงกำหนดให้มีการยกเว้นให้ Market Maker เช่นเดียวกับต่างประเทศ อาทิ อังกฤษฮ่องกง ฝรั่งเศส อิตาลี ทั้งนี้ สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา นักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำนาญหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ทำหน้าที่ซื้อขายในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เองตามคำสั่งของผู้ถือหุ้น (ไม่ใช่บัญชี Market Maker) ไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด