In Thailand
จัดกิจกรรมจิตอาสาปลูกผักสมุนไพร1คน1แปลง
มหาสารคาม-ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามจัดกิจกรรมจิตอาสาปลูกผักสมุนไพร 1 คน 1 แปลง เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ
ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม รองศาสตราจารย์ว่าที่พันตรี ดร.กิตติกรณ์ บำรุงบุญ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นประธานจัดกิจกรรมพิธีถวายเครื่องราชสักการะเนื่องในวันชาติ วันพ่อแห่งชาติในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเปิดกิจกรรมจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ วันดินโลกและจัดโครงการปลูกผักสมุนไพร 1 คน 1 แปลง โดยมีรองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี ประธานหลักสูตรทุกหลักสูตร คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมบริเวณด้านหลังอาคารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
เนื่องในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นชาติและวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันดินโลก พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่มีต่อชาวราชภัฏ อาทิ พระราชทานนามราชภัฏและพระราชทานพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ จนมาถึงทุกวันนี้ พ่อของแผ่นดิน พ่อคือผู้ให้ที่อยู่ในดวงใจของลูก ๆ ชาวคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้มีความกตัญญูต่อพ่อของแผ่นดิน ขอเป็นจิตอาสาสร้างความดีแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม สังคม ประเทศชาติ ซึ่งทางคณะได้สร้างศาลาหลังแรกเปิดในวันแม่แห่งชาติ 2564 ทำพิธีเปิดเมื่อ 11 สิงหาคม 2564 ซึ่งสร้างขึ้นตรงบริเวณริมหนองนกเป็ดน้ำ และทำพิธีเปิดวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ได้สร้างศาลาคู่กันในวันพ่อแห่งชาติ 2564 มนุษย์พันธุ์ดีเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดี เพื่อแสดงความกตัญญู
ทั้งนี้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันดินโลกคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงจัดโครงการปลูกผักสมุนไพร 1 คน 1 แปลง เพื่อที่ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ร่วมมือร่วมใจกันปลูก สามารถนำผลผลิตไปแบ่งปันให้ชาวคณะและหน่วยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ก่อเกิดความรักความสามัคคีน้อมนำศาสตร์พระราชาในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วยการร่วมปลูกต้นไม้และผักสมุนไพร 1 คน 1 แปลง พร้อมกับการทำปุ๋ยและวัสดุจากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมาใช้ประโยชน์”ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
พิเชษฐ ยากรี / มหาสารคาม