In Global

มอง'เทคโนโลยีจีน'ที่กำลังจะเป็นอนาคต ของโลก โดย...'ชาดา เตรียมวิทยา'



นับตั้งแต่การก่อตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” วันที่ 1 ตุลาคม 1949  ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน 70 ปีแห่งความภาคภูมิใจ “สี่จตุรนวัตกรรมจีนยุคใหม่” หรือ “จงกั๋ว เซี่ยนไต้ เตอ ซิน ซื่อ ต้า ฟาหมิง” เป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีอิทธิพลต่อประชากรโลก และมีผลประโยชน์ต่อสังคม ได้แก่ ข้าวพันธุ์ผสมที่ปลูกโดยใช้น้ำทะเล การเรียงพิมพ์ตัวอักษรจีนด้วยระบบเลเซอร์ การสังเคราะห์อินซูลินจากวัว และ การค้นพบยารักษาโรคมาลาเรียซึ่งทำจากสมุนไพรจีน ทำให้เมื่อนึกถึงจีนจะต้องนึกถึงประเทศที่ยิ่งใหญ่ ประเทศเทคโนโลยีที่กำลังจะเป็นอนาคตของโลก โดยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนพยายามที่จะเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีกับเยาวชนเพื่อให้จีนได้เป็น "ชาติแห่งนวัตกรรม" ภายในปี 2020

ในปัจจุบันยังมี “สี่จตุรประดิษฐ์ของจีนยุคใหม่” ที่ต่อยอดวิจัยและพัฒนา หรือ เลียนแบบแล้วพัฒนา ให้ยิ่งใหญ่จากของสิ่งประดิษฐ์เดิมโดยผ่านกระบวนการ R&D (Research and Development) หรือจะเป็น C&D (Copy and Development) ซึ่งจีนก็ทำให้โลกยุค 5G ถูกเปลี่ยนไปตลอดกาล ได้แก่ เจ้าแห่งรถไฟความเร็วสูง เจ้าแห่งจักรยานแชร์ริ่ง เจ้าแห่งแหล่งกำเนิดอีคอมเมิร์ซ และ เจ้าแห่งโมบายเพย์เมนท์สู่สังคมไร้เงินสด

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ของจีนเกิดขึ้นจากปัจจัยในระยะเวลาช่วง ๔๐ ปี ที่จีนดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ จีนได้วางยุทธศาสตร์ “การสร้างสรรค์ประเทศด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม” โดยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของประชาชนจีน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมาโดยตลอด รวมถึงการที่จีนยินดีร่วมมือกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพื่อสร้างคุณูปการใหม่ให้กับความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาของมนุษยชาติ โดยการเปลี่ยนแปลงภายในจีน ในยุคภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจจีน ฉบับที่ 14 หรือ 14th Year Plan ของประเทศจีน ที่เน้นเรื่องของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างชัดเจน โดยการสนับสนุนการศึกษา การคัดเลือกหาบุคลากรและการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นหมายเลขหนึ่งของโลกด้านเทคโนโลยี ที่จะมุ่งพัฒนาจีนให้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI  ซึ่งจีนได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็น “มหาอำนาจนวัตกรรมโลก” ภายในปี  2030 พร้อมเป็น “ผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก” ภายในปี 2035

ในช่วงวิถีชีวิตปกติใหม่หรือที่ทุกคนเรียกกันว่ายุค New normal วิถีชีวิตชาวจีนมีความเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยจากผลของการระบาดของโควิด-19 ในช่วงเกือบ 3 ปี ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่สำหรับชาวจีนลดความเสี่ยงจากการสัมผัสและการติดต่อในระยะใกล้ชิด รวมถึงการสนับสนุนนโยบาย “Zero-COVID” ของรัฐบาลจีน ด้วยการ ปรับใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจและยกระดับคุณภาพวิถีชีวิตคนจีนให้ดีขึ้น ได้แก่ ตู้ฝากอาหารอัจฉริยะของเม่ถวน  รถส่งพัสดุไร้คนขับ หุ่นยนต์ส่งอาหารของโรงแรม หุ่นยนต์อัจฉริยะให้บริการแก่ผู้โดยสารในสนามบิน และ การนำ Big Data มาใช้ประโยชน์ในการสร้าง “รหัสสุขภาพ” หรือ เจี้ยนคัง หม่า เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่น่าสนใจภาคธุรกิจเอกชนของจีนก็มีนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า  Dingdong Maicai หรือ ติงตง ม่ายไช่ เป็นแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ประเภทของสดจำพวกผักและผลไม้ ก็ได้นำระบบข้อมูล Big Data ไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนธุรกิจ โดยการนำข้อมูลจากประวัติการสั่งซื้อของลูกค้าที่เก็บรวบรวมไว้มาประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล คาดการณ์คำสั่งซื้อล่วงหน้า เพื่อสร้างสมดุลในการจัดเก็บสินค้าอาหารสดและลดจำนวนของเน่าเสีย ในช่วงการระบาดของโควิด-19

ในยุคที่เกิดวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ หลายประเทศร่วมมือและแข่งขันกันสร้างแหล่งพลังงานใหม่ที่สะอาดกว่าเดิม จีนที่วางแผนสร้าง “ดวงอาทิตย์เทียม” และเริ่มโครงการในปี 2006 กับการทดสอบการทำปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันของเตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมค ที่เรียกกันว่าโครงการ “EAST” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนพลังงานระบบสุริยะของดวงอาทิตย์ ด้วยการจำลองการสร้างพลังงานของดวงอาทิตย์ที่ได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นจนกลายเป็นพลังงานฟิวชั่น ที่จะนำไปสู่การควบคุมแหล่งกำเนิดพลังงานสะอาดราคาถูกที่สามารถนำมาใช้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด กลุ่มนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จีนมีความเชื่อว่าหากโลกมีพลังงานสะอาดแล้ว อาจเป็นประตูไปสู่วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ในปี 2018 จีนยังมีแผนการสร้างโครงการ “ดวงจันทร์เทียม” เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและเชื่อมกับการสร้างพลังงานสะอาดเป็นของตัวเอง โดยนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จีนคาดว่าทั้ง “ดวงอาทิตย์เทียมและดวงจันทร์เทียม” ของจีนจะเป็นพลังงานสะอาดของชาติในอีก 30 ปีข้างหน้า และเชื่อมั่นหลายประเทศคงเตรียมตัวสร้างพลังงานสะอาดในแบบที่ตัวเองเชี่ยวชาญกันมากขึ้น

ทั้งนี้พื้นฐานนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้เกิดจากระบบการศึกษาที่จีนได้เตรียมความพร้อมของคนจีนทั้งเด็กเล็กตั้งแต่วัยประถม ถึงผู้ใหญ่ให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบ “Lifelong Learning” สู่การจะใช้ชีวิตในโลกอนาคตผ่านการเรียน โค้ดดิ้ง (Coding) โดยเป็นทักษะที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีทักษะการแก้ปัญหาด้วยแนวคิดเชิงคำนวณที่สามารถแตกปัญหาออกเป็นส่วนย่อยเพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไขในแต่ละส่วนได้ คนจีนยุคใหม่เกือบทุกคนมี DNA ของสายวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรม รู้ทันในยุคข้อมูลข่าวสารและการประยุกต์นำข้อมูลมาใช้ในสังคมดิจิทัล รวมถึงการสามารถปรับตัวเองผ่านการเรียนรู้ให้เท่าทันโลก ซึ่งคุณภาพของคนจีนและสินค้าจีนยุคใหม่เห็นได้ชัดเจนใน “ฟุตบอลโลก 2022 กาตาร์” ที่แม้ว่าทีมฟุตบอลชาติจีนจะไม่ได้เข้ารอบ 32 ทีม แต่คนจีนหลายคนภาคภูมิใจสินค้าของจีนหลายแบรนด์ที่มีบทบาทอิทธิพลอย่างสูงในกีฬาฟุตบอลโลก 2022 ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ว่า “สินค้ามีต้นกำเนิดจากจีน” ได้บ่งบอกถึง “การพึ่งพา” และ “ความไว้วางใจ” จากผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้รู้สึกถึงพลังของแบรนด์จีน และสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของกาตาร์ที่ใช้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็สร้างโดย China Railway Construction Corp International

-------------------------------

บทความโดยอ.ดร. ชาดา เตรียมวิทยา

อาจารย์สาขาภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม ภาควิชาภาษา คณะศิลปศาสตร์รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการ 42 บางกอก  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง