Biz news

PwCจับตา‘บริการทางการเงินแบบฝังตัว’ แบงค์มอง'ผลิตภัณฑ์-บริการรูปแบบใหม่



กรุงเทพฯ, 9 ธันวาคม 2565 – PwC ชี้ ‘บริการทางการเงินแบบฝังตัว’กำลังเป็นดิสรัปชันใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินและธนาคารทั่วโลกโดยบริการทางการเงินที่ฝังตัวอยู่ในทุกรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคนี้เปิดทางให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นนอนแบงก์เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจธนาคารและธุรกิจประกันภัยแบบดั้งเดิมรวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงจากการสูญเสียลูกค้าและแหล่งรายได้ตลาดลูกค้ารายย่อยแนะธุรกิจธนาคารยกระดับแพลตฟอร์มและสร้างข้อเสนอที่มีการฝังบริการทางการเงิน เพื่อรักษาฐานลูกค้า สร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ตลอดจนปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้าสายงานกลุ่มธุรกิจ​บริการทางการเงิน บริษัท PwCประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมการเงินทั้งในส่วนของภาคธนาคารและประกันภัยทั่วโลกกำลังเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เกิดจากบริการทางการเงินแบบฝังตัว (Embedded finance)ซึ่งถือเป็นรูปแบบบริการทางการเงินที่ฝังตัวอยู่ในทุกช่วงชีวิตของลูกค้า โดยผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-
banks และ Non-insurance) ได้เริ่มนำบริการประเภทนี้มาใช้กับการชำระเงิน การให้กู้ยืมเงิน และ การประกันภัย เป็นต้นโดยบริการทางการเงินในรูปแบบดังกล่าว ฝังตัวอยู่ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ไม่ว่าจะเป็นตลาดขายของบนโลกออนไลน์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เพื่อให้การทำธุรกรรมเป็นไปได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วแนวโน้มดังกล่าว สอดคล้องกับบทความ 2022 Retail Banking Monitor: Repositioning for embedded finance โดยStrategy& ของ PwC ที่คาดการณ์ว่า สัดส่วนของบริการทางการเงินแบบฝังตัว จะคิดเป็นมากกว่า 15%ของส่วนแบ่งรายได้ของธนาคารเพื่อรายย่อยในยุโรปในปี 2573

“ตลาดบริการทางการเงินแบบฝังตัว จะยิ่งขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก โดยจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ ๆที่ไม่ใช่แค่สถาบันการเงิน แต่ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมถึงกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เช่น ค้าปลีก โทรคมนาคม ประกันภัยหรืออีคอมเมิร์ซ เข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดและทำให้เกิดรูปแบบบริการใหม่ ๆ เช่น บริการแบงก์กิ้ง บริการประกันบริการท่องเที่ยว และบริการสุขภาพ โดยผลบวกที่ตามมา คือ นอกจากจะทำให้ตลาดนี้ใหญ่ขึ้นแล้ว เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับembedded finance ก็จะยิ่งเติบโตตามไปด้วย แต่ในทางตรงกันข้ามธนาคารเพื่อรายย่อยก็จะมีความเสี่ยงจากการต้องสูญเสียลูกค้าและส่วนแบ่งรายได้ให้กับผู้เล่นที่เข้ามาใหม่” นางสาว วิไลพร กล่าว

ทั้งนี้ บทความดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า ตลาดบริการการเงินแบบฝังตัวในประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.25หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.88 แสนล้านบาท) 1 และคาดว่า ในปี 2568 มูลค่าดังกล่าว จะเติบโตมากกว่าสิบเท่าเป็น 2.3แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8 ล้านล้านบาท) ในเชิงของปริมาณรายได้ใหม่ สะท้อนให้เห็นว่ามูลค่าตลาดรวมของบริการทางการเงินแบบฝังตัวทั่วโลกนั้นย่อมจะต้องสูงกว่านี้มาก

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มฟินเทค (FinTech)ได้นำบริการทางการเงินแบบฝังตัวมาใช้กับสินค้าและบริการของตนอย่างแพร่หลาย รวมถึงนำเสนอโซลูชันทางการเงินใหม่ ๆที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีและแย่งชิงส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจบริการทางการเงินเพื่อรายย่อย เช่น การให้บริการ ‘ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง’ (Buy-Now-Pay-Later)ของธุรกิจสายการบิน การจัดหาเงินทุนให้แก่ผู้ป่วยสำหรับการผ่าตัดใหญ่ของธุรกิจโรงพยาบาลและการจัดตั้งรูปแบบการชำระเงินของตนเองของธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น ดึง embedded finance มาใช้สร้างความแตกต่าง

นางสาว วิไลพร กล่าวว่าการฝังบริการทางการเงินในระบบนิเวศจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธนาคารและสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมเพราะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์มหรืออินเทอร์เฟซดิจิทัล (Digital interfaces) ที่ผู้บริโภคทำการโต้ตอบด้วยทุกวัน และนำเสนอออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วจึงช่วยส่งมอบประสบการณ์ที่ดี และส่งผลให้ความสัมพันธ์กับลูกค้าแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอย่างไรก็ดี สถาบันการเงินที่ต้องการก้าวสู่บริการทางการเงินแบบฝังตัวควรกำหนดบทบาทและวางตำแหน่งทางการตลาดให้ชัดเจนซึ่งบทบาทสำคัญที่ธนาคารและสถาบันการเงินควรพิจารณา มีดังต่อไปนี้
------------------------                                                                                                                                                                                                                                                                 1 อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 34.92 บาท ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2565

1. สถาบันการเงินเข้าร่วมในระบบนิเวศ (Participant)โดยนำผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินฝังเข้าไปในแพลตฟอร์มของธุรกิจอื่น ๆเพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ให้แก่กลุ่มลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มหรือ ecosystem ของผู้อื่น  ซึ่งทำได้ง่ายและรวดเร็วแต่อาจไม่สามารถกำหนดทิศทางของระบบนิเวศโดยรวมได้ 
2. สถาบันการเงินร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศ (Orchestrator) โดยร่วมกันกำหนดทิศทางของระบบนิเวศ เช่นกลยุทธ์ การปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด ประเภทของผลิตภัณฑ์หรือการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรูปแบบนี้จะใช้การลงทุนด้านเวลาและเงินทุนสูงกว่าข้อแรก
3. สถาบันการเงินเป็นผู้สร้างระบบนิเวศ (Creator) ของตนเองขึ้นมา โดยมีอำนาจในการควบคุมอย่างเต็มที่ (fullcontrol) และเป็นผู้ลงทุนด้านเม็ดเงิน เวลา บุคลากร และเทคโนโลยี ทั้งนี้สถาบันการเงินสามารถกำหนดทิศทางทั้งหมด เช่น การเลือกคู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจ ประเภทของผลิตภัณฑ์การกำหนดประสบการณ์ของลูกค้า การทดลองนวัตกรรมใหม่ และอื่น ๆ ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจนี้เหมาะสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อทดลองและขยายขนาด (scale up) 

ในส่วนของประเทศไทย
เราจะยิ่งเห็นการจับมือทางธุรกิจระหว่างฟินเทคกับบริษัทลูกของธนาคารที่แยกออกมาสร้างแบรนด์ใหม่เพื่อรุกธุรกิจด้านการเงินสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้หรือรีเซ็ตโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆแต่สิ่งที่ธนาคารต้องให้ความสำคัญอย่างที่กล่าวไป คือ ต้องกำหนดบทบาทของตนในระบบนิเวศที่จะยิ่งทวีความซับซ้อนพร้อมปรับปรุงคุณค่าที่นำเสนอเพื่อรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ยิ่งไปกว่านั้น จะต้องสร้างความแตกต่างเพื่อแข่งขันในตลาดโดยยึดการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าเป็นโจทย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เหนือกว่าคู่แข่งให้ได้” เธอกล่าว