In Thailand

ชาวบ้าน12หมู่เปิดภาพความยากลำบาก ติดต่ออบต.โยธะกาแห่งใหม่ในช่วงฤดูฝน



ฉะเชิงเทรา-ชาวบ้าน โยธะกาเปิดภาพความยากลำบากในการเดินทางช่วงฤดูฝน ของประชาชน 12 หมู่บ้านเพื่อมุ่งหน้าไปยังที่ตั้งแห่งใหม่ของสำนักงาน อบต. ที่อยู่ทางตอนบนสุดของตำบลใกล้ชายขอบสุดเขตจังหวัด ที่มีเพียงหมู่บ้านเดียวจาก 13 หมู่บ้าน ที่กำลังมีการเตรียมการก่อสร้างใกล้กับป่าช้าหลังวัดคลองหกวา จนเป็นเหตุทำให้ ปชช.ในพื้นที่ เริ่มออกมาเคลื่อนไหวลงลายมือชื่อคัดค้านการก่อสร้างกว่า 700 คน

วันที่ 9 ธ.ค.65 เวลา 14.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้รับการเปิดเผยภาพถ่ายจากชาวบ้าน และผู้นำชุมชนในพื้นที่ ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ถึงความยากลำบากในการสัญจรผ่านพื้นที่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และพื้นที่ของหน่วยทหารเรือโยธะกา ที่ไม่สามารถใช้งบประมาณจากหน่วยงานอื่นเข้ามาพัฒนาปรับปรุงเส้นทางการสัญจรได้ จึงทำให้ในช่วงฤดูฝนชาวบ้านส่วนใหญ่ใน 12 หมู่บ้านจากทั้งตำบลมี 13 หมู่บ้าน 

ไม่สามารถเดินทางผ่านไปยังในเขตพื้นที่ ม.12 ซึ่งเป็นเพียงหมู่บ้านเดียวของตำบล ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือสุดติดกับแนวตะเข็บรอยต่อ จ.นครนายก ได้โดยสะดวก และยังเป็นพื้นที่ที่กำลังมีการเตรียมการก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่ของทาง อบต.โยธะกา จากเดิมที่ อบต.โยธะกา ยังไม่มีสำนักงานที่ทำการเป็นของตนเอง และยังต้องเช่าตึกอาคารพาณิชย์ขนาด 2 ชั้นจำนวน 2 คูหา ใช้เป็นที่ทำการสำนักงานจากภาคเอกชนอยู่ในราคา 12,000 บาทต่อเดือน

โดยจุดที่ตั้งแห่งใหม่นั้นเป็นพื้นที่ตามที่ชาวบ้านได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านและยื่นหนังสือจนถึงมือนายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ในช่วงระหว่างการเดินทางมาเป็นประธานการประชุมมอบยโยบายต่อผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน และ ผู้บริหารท้องถิ่น (อปท.) เมื่อวันนี้ (8 ธ.ค.65) ภายในหอประชุมที่ว่าการ อ.บางน้ำเปรี้ยว พร้อมแนบรายชื่อผู้ร่วมคันค้านการก่อสร้างเป็นจำนวนมากถึงกว่า 700 คน 

เพื่อขอให้ทาง อบต.โยธะกา จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ หรือทำประชาพิจารณ์รับฟังเสียงข้างมากก่อนดำเนินการก่อสร้าง โดยตัวแทนชาวบ้านซึ่งนำโดย นายจำลอง สิงหนาท อายุ 70 ปี ชาวบ้าน ม.6 ต.โยธะกา ได้ให้เหตุผลในการคัดค้านว่า จุดที่ตั้งแห่งใหม่นั้นอยู่บริเวณด้านหลังป่าช้า ใกล้กับเมรุเผาศพของวัดคลองหกวา (วัดศรีกุเรชา) และเป็นพื้นที่กลางท้องทุ่งนา ที่ต้องใช้เงินงบประมาณมากถึงกว่า 3 ล้านบาทในการปรับสภาพถมพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้าง 

ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าการจัดหาซื้อที่ดินแปลงใหม่ ที่อยู่ใจกลางชุมชนของชาวตำบลโยธะกา ที่มีราคาถูกกว่าเพียงไร่ละ 3.5 แสนบาทหรือคิดเป็นเงินค่าจัดซื้อที่ดินเพียง 1.75 ล้านบาท โดยได้จำนวนเนื้อที่ดิน 5 ไร่เท่ากันกับแปลงที่ดินที่ได้รับบริจาคมาให้ตั้งเป็นสำนักงาน อบต.แห่งใหม่ หลังวัดในพื้นที่ ม.12 ทั้งยังไม่ต้องปรับถมที่ดินมากนัก

นอกจากนี้ยังไม่สะดวกสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ในตำบลมากถึง 12 หมู่บ้านจากทั้งหมด 13 หมู่บ้าน ที่จะต้องเดินทางผ่านพื้นที่ของกรมชลประทาน การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานทหารของกองทัพเรือ ที่ไม่สามารถใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเข้าไปปรับปรุงสภาพผิวการจราจรได้ อีกทั้งในอนาคตยังอาจถูกปิดเส้นทางการสัญจร หลังจากทางการรถไฟเริ่มเข้ามาล้อมรั้วปิดกั้นพื้นที่ตลอดแนวของรางรถไฟแล้ว

ขณะที่ทางหน่วยทหารเรือโยธะกานั้น ไม่อนุญาตให้ประชาชน รวมถึงหน่วยงานอื่นใดเข้ามาปรับปรุงถนน ทั้งยังห้ามวางท่อประปาหมู่บ้านผ่าน และห้ามดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทุกชนิดในพื้นที่ จนทำให้ชาวบ้านหวั่นเกรงว่าจะไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางไปติดต่อราชการ ยังที่สำนักงาน อบต.แห่งใหม่ และการเดินทางรับส่งบุตรหลานไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของทาง อบต.ในอนาคต ที่จะต้องผ่านพื้นที่ดังกล่าว

เนื่องจากในสภาพปัจจุบันนั้น การสัญจรผ่านยังคงมีความยากลำบากตามภาพที่ชาวบ้านนำมาแสดงต่อผู้สื่อข่าวให้เห็นอยู่ก่อนหน้าเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ถูกน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนของทุกปี และไม่สามารถใช้เงินงบประมาณจากทางราชการเข้ามาปรับปรุงเส้นทางได้ โดยในฤดูแล้งผิวการจราจรจึงยังขรุขระเป็นหลุมบ่อเดินทางไม่สะดวก โดยหากชาวบ้านมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปยังในพื้นที่เตรียมการก่อสร้างสำนักงาน อบต.แห่งใหม่นั้น จะต้องเดินทางอ้อมไปไกลถึง 3 จังหวัด

โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ทางตอนใต้ของตำบล ที่จะต้องเดินทางไปยังเส้นทางมุ่งหน้า อ.องครักษ์ จ.นครนายก โดยต้องเดินทางผ่านวกเข้ามายังในเขตตัว อ.บางน้ำเปรี้ยว ก่อน ระยะทางประมาณเกือบ 30 กม. หรือใช้เส้นทางผ่านเข้าไปทาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี รวมระยะทางไกลถึงกว่า 40-50 กม. จากใจกลางชุมชน นายจำลอง ระบุ

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา