In Global
โลกจับตาความสัมพันธ์จีน-ซาอุดิอาระเบีย หลังการเยือนของ'ปธน.สี จิ้นผิง'
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี โดยครั้งล่าสุดที่ไปเยือนซาอุดิอาระเบีย คือ ปีค.ศ. 2016 และเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งที่ 3 ของผู้นำจีนนับตั้งแต่เกิดสถานการ์โควิด-19
การเดินทางมาเยือนซาอุดิอาระเบียของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในครั้งนี้ เป็นที่จับตาจากประชาคมโลกอย่างมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา ชาติมหาอำนาจที่มีอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลางมายาวนาน และซาอุดิอาระเบียตกต่ำอย่างมากจากประเด็นเรื่องการลดกำลังผลิตน้ำมัน และปัญหาสิทธิมนุษยชน
สื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนักยังตั้งข้อสังเกตถึงการต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของทางการซาอุดิอาระเบียว่าเป็นการต้อนรับที่ยิ่งใหญ่ อลังการ แตกต่างจากเมื่อครั้งที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบีย
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เข้าเฝ้าฯ กษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดิอาระเบีย และลงนามในข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับซาอุดิอาระเบีย โดยสำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่า จีนและซาอุดิอาระเบียเห็นชอบที่จะให้ประมุขของทั้ง 2 ประเทศมีการหารือความร่วมมือทุก 2 ปี
นอกจากนี้ ยังมีการลงนามในข้อตกลงอีก 34 ฉบับ ที่คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นข้อตกลงความร่วมมือที่ครอบคลุมเรื่องพลังงานสะอาด บริการคลาวด์เทคโนโลยี การก่อสร้าง การขนส่ง เป็นต้น
หนึ่งในข้อตกลงที่ทั้งสองประเทศลงนามคือการให้บริษัทหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีของจีนสามารถทำงานในโครงการเทคโนโลยีคลาวด์ และใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเมืองของซาอุดิอาระเบียด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียให้ความสำคัญกับการเดินทางมาเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมหาอำนาจโลกที่ไปเยือนซาอุดิอาระเบียก่อนหน้านี้ หรือแม้แต่เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนซาอุดิอาระเบียเมื่อปีค.ศ. 2016 ก็ไม่ได้ต้อนรับยิ่งใหญ่เท่าครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดของจีนกับประเทศในตะวันออกกลางที่จะแนบแน่นยิ่งขึ้น โดยมีซาอุดิอาระเบียเป็นศูนย์กลางสำคัญ
ปกติจีนและซาอุดิอาระเบียมีความสำคัญใกล้ชิดกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้าขายน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ โดยซาอุดีอาระเบียยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับหนึ่งของจีน ขณะที่จีนก็อนุญาตให้ซาอุดิอาระเบียตั้งโรงกลั่นน้ำมันทางตอนใต้ของจีน ช่วยให้ซาอุดิอาระเบียได้ประโยชน์จากการขายน้ำมันและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงกลั่นน้ำมัน
นอกจากนี้ จีนมีนโยบายมุ่งสู่การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นและต้องการกระจายโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศที่จีนมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ขณะที่ซาอุดิอาระเบียก็มีแผนVision ปี 2030 ที่ต้องการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจเช่นกัน ดังนั้นซาอุดิอาระเบียจึงเล็งเห็นโอกาสที่จะร่วมมือกับจีนในด้านพลังงานนอกจากพลังงานฟอสซิล เนื่องจากจีนมีความเชี่ยวชาญเรื่องพลังงานทางเลือก เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น
ความร่วมมือของจีนและซาอุดิอาระเบียยังมีผลต่อการพัฒนาด้านการเงินด้วย ที่ต่อไปนอกจากจะใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสื่อกลางในการซื้อขายน้ำมันแล้ว อาจจะเปลี่ยนเป็นการใช้เงินหยวน หรือเงินสกุลซาอุดิอาระเบียริยัล ทำให้เงินหยวนของจีนถูกใช้อย่างแพร่หลายในระดับสากลและในอนาคตอาจจะกลายเป็นเงินสกุลหลักของโลก
ความร่วมมือระหว่างจีนและซาอุดิอาระเบียจึงเป็นสิ่งที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของบทบาทจีนและซาอุดิอาระเบียทิ่ยิ่งจะโดดเด่นยิ่งขึ้นในเวทีโลก ดังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวในการเยือนครั้งนี้ว่า นี่เป็นการเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความสัมพันธ์ระหว่างจีนและโลกอาหรับ โดยจีนพร้อมพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับซาอุดิอาระเบียเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย