In Bangkok
กทม.กำหนดมาตรการเชิงรุกดูแลสุขภาพ นักเรียนโรงเรียนในสังกัด

กรุงเทพฯ-สำนักการศึกษา กทม.กำหนดมาตรการเชิงรุกดูแลสุขภาพอนามัยนักเรียนโรงเรียนในสังกัด พร้อมเสริมทักษะการ CPRและป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุ
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมความรู้และทักษะด้านการดูแลสุขภาพอนามัย รวมถึงการจัดฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม.ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนศ.ได้กำหนดมาตรการเชิงรุกในการกำกับดูแล ควบคุม และติดตามตรวจสอบคุณภาพอาหารเช้าและอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม.โดยตรวจสอบการจัดทำรายการอาหารในระบบ Thai School Lunch for BMA ทุกวัน และรายงานให้ผู้บริหารทราบทุกเดือน รวมทั้งเพิ่มสลัดบาร์ให้นักเรียนเพิ่มเติมจากอาหารเช้าและอาหารกลางวัน ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกรับประทานได้ตามอัธยาศัย สัปดาห์ละ 2 วัน และมอบหมายให้หน่วยศึกษานิเทศก์ประจำโรงเรียน ตรวจสอบรายการอาหารแต่ละวันผ่านระบบ Thai School Lunch for BMA และปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย
นอกจากนี้ โรงเรียนสังกัด กทม.ทุกโรงเรียนยังได้จัดการเรียนการสอนวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Cardiopulmonary resuscitation : CPR) อย่างถูกวิธี โดยจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) อยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา สาระที่ 5 ความปลอดภัยในชีวิต มาตรฐาน พ5.1 ป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ การใช้ยา สารเสพติด และความรุนแรง สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตัวชี้วัดชั้นปี ข้อที่ 5 แสดงวิธีการช่วยฟื้นคืนชีพอย่างถูกวิธี และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 ตัวชี้วัดช่วงชั้น ข้อที่ 7 แสดงวิธีการช่วยฟื้นคืนชีพอย่างถูกวิธี โดยในการจัดการสอน หรือจัดอบรมให้แก่นักเรียนและครูจะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีทักษะการทำ CPR ซึ่ง สนศ.ร่วมกับสำนักการแพทย์ มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ มูลนิธิกู้ภัยร่มไทร จัดวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถมาอบรมครูและนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. พร้อมทั้งจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้และพัฒนาทักษะการป้องกันภาวะอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุในโรงเรียนด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างปลอดภัย โดยจัดอบรมให้กับครูทั้ง 437 โรงเรียน จำนวน 1,213 คน เพื่อให้ครูที่ผ่านการอบรมแล้วนำไปขยายผลแก่เพื่อนครูและนักเรียนให้มีความรู้และทักษะการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างปลอดภัย