In Thailand

เยาวชนวิจิตรแพรวาสานภูมิปัญญาผ้าไหมไทย



กาฬสินธุ์-โรงเรียนชุมชนโพนพิทยา อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดการเรียนการสอนหลักสูตรสาระท้องถิ่น การทอผ้าไหมแพรวา ส่งต่อภูมิปัญญาการทอผ้าพื้นเมืองให้กับเยาวชนร่วมสืบสาน พร้อมเปิดช่องทางการจำหน่ายริวิวขายทางออนไลน์ สร้างรายได้ระหว่างเรียนและเป็นทุนการศึกษาในอนาคต

วันที่ 15 ธันวาคม 2565 ที่โรงเรียนชุมชนโพนพิทยา ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ นายวัฒนะ บุตรสุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนโพนพิทยา พร้อมด้วยนางดาราพร บุตรสุวรรณ์  หัวหน้ากลุ่มสาระการงานอาชีพ และบุคลากรครูกลุ่มสาระท้องถิ่น การทอผ้าไหมแพรวา ดูแลความเรียบร้อยการเรียนการสอน ในชั่วโมงเรียนของชุมนุมทอผ้าไหมแพรวา โดยมีนักเรียนระดับอนุบาลถึงชั้น ม.3 ให้ความสนใจเรียนเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

นายวัฒนะ บุตรสุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนโพนพิทยา กล่าวว่า โรงเรียนชุมชนโพนพิทยา เป็นสถานศึกษาประจำชุมชน ซึ่งมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นคือมารยาทสวยด้วยชุดผู้ไทย ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านโพน มีเอกลักษณ์ด้านการทอผ้าไหมแพรวาด้วยภูมิปัญญาชาวผู้ไทมาตั้งแต่ดั้งเดิม เริ่มต่อยอดขยายผลหลังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ทรงรับไว้ในโครงการศิลปาชีพตั้งแต่ปี 2520  ต่อมามีการพัฒนาและออกแบบลายผ้าไหมแพรวา จนได้ชื่อว่าราชินีแห่งไหม โดยในชุมชน ประชาชน ผู้ปกครองเด็กนักเรียน มีการทอผ้าไหมแพรวาเป็นอาชีพ ที่เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การสาวไหม การปั่นเส้นไหม  ย้อมสีธรรมชาติ และขั้นตอนสุดท้ายคือทอมือ ผ้าไหมแพรวา ถือเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมล้ำค่า และสานต่อเพื่ออนุชนรุ่นหลังร่วมสืบสาน จึงได้จัดหลักสูตรท้องถิ่นทอผ้าไหมแพรวาในโรงเรียนขึ้น โดยจัดขึ้นมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2539

ด้านนางดาราพร บุตรสุวรรณ์ หัวหน้ากลุ่มสาระการงานอาชีพ กล่าวว่าการเรียนการสอนหลักสูตรท้องถิ่นทอผ้าไหมแพรวาในโรงเรียน เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน โดยมีปราชญ์ด้านการทอผ้าไหมแพรวาเข้ามาร่วมสอน ฝึกอบรมทักษะ นักเรียนได้สัมผัสขั้นตอนหรือกระบวนการผลิตด้วยตนเองตามวัย เริ่มจากง่ายไปหายาก  รวมทั้งการประยุกต์ลายผ้าไหมแพรวา ออกแบบลายผ้าด้วยคอมพิวเตอร์ แปรรูปไหมแพรวา เป็นสินค้าที่ระลึกประเภทต่างๆ จำหน่ายในโรงเรียน และล่าสุดกำลังหัดให้นักเรียนรีวิวขายทางออนไลน์ 

เพื่อสร้างรายได้ระหว่างเรียน และนอกจากนี้ยังจะนำรายได้เป็นทุนการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะเด็กนักเรียนของเราจบออกไป มีความชำนาญในการทอผ้าไหมแพรวามากถึง 80% ทั้งนี้ ทางโรงเรียน ยังได้ปลูกฝังให้เด็กนักเรียนอนุรักษ์การสวมใส่ผ้าไทยในทุกวันศุกร์ หรือในวันงานบุญประเพณี โดยชุดที่นักเรียนสวมใส่นั้นมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 5,000 บาททีเดียว ซึ่งถือเป็นชุดพื้นที่เมืองที่ทรงคุณค่า และสวมใส่แล้วดูดี เหมาะสมกับวัย การันตีว่าผ้าไหมแพรวา สามารถตัดเย็บสวมใส่ได้ภูมิฐานทุกเพศ ทุกวัย

ขณะที่ ด.ญ.จารุพิชญา เกลี้ยงรส นักเรียนชั้น ป.3 กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจมาก ที่เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และสืบสานการทอผ้าไหมแพรวา โดยจะนำไปประกอบอาชีพในอนาคต ปัจจุบันตนสามารถทอผ้าไหมแพรวาได้หลายลาย เช่น ลายดอกดาว ลายดอกตาบ้ง ลายช่อนาค และลายดอกพันมหา