In Thailand

ชุดสกายดอกเตอร์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน



พังงา-โรงพยาบาลพังงา ร่วมกับการบินสำนักงานตำรวจภูธรภาค 8 จัดเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 ลำ ดำเนินการสนับสนุนให้กับทีมแพทย์และพยาบาลชุดสกายดอกเตอร์ (Sky Doctor) ของโรงพยาบาลพังงา ให้การช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 เวลา 14.20 น. โรงพยาบาลพังงา โดยการอำนวยการของแพทย์หญิงทิพย์รัตน์ ต้นสกุลประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพังงา ร่วมกับการบินสำนักงานตำรวจภูธรภาค 8 จัดเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 ลำ ดำเนินการสนับสนุนให้กับทีมแพทย์และพยาบาลชุดสกายดอกเตอร์ (Sky Doctor) ของโรงพยาบาลพังงา ให้การช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน เพศชาย จำนวน 1 ราย อายุ 56 ปี สิทธิบัตรทอง มารักษาตัวที่ห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินโรงพยาบาลพังงา ด้วยอาการจุกแน่นใต้ลิ่นปี่ เหงื่อแตก ตัวเย็น เวียนศีรษะ อาเจียน ผลการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ พบว่าหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง  ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตเร่งด่วน มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยทีมแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ทีมทีมสกายดอกเตอร์โรงพยาบาลพังงา นำโดยแพทย์หญิงมัลลิกา วิศาล แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน พร้อมด้วย นายปิยะมิตร ระงับทุกข์ พยาบาลเฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และนางสาวจันทิมา อารีชนม์

นักฉุกเฉินทางแพทย์ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราวองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา ไปรักษาต่อ ณ โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา และตำรวจภูธรจังหวัดพังงา

ทั้งนี้  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพ.) ได้พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่มีภาวะเจ็บป่วยวิกฤติฉุกเฉินในประเทศไทย ให้ได้รับการรักษาพยาบาลและส่งต่ออย่างรวดเร็วทางอากาศยาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ลงนามบันทึกความตกลงร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงกลาโหม (กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการบินพลเรือน ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ และบริษัทเอกชนต่าง ๆ เพื่อการขอใช้อากาศยานของหน่วยงานดังกล่าวในการลำเลียงผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ทั้งในภาวะปกติและเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยมีทีมแพทย์พยาบาลที่มีความรู้ทักษะและผ่านการอบรมหลักสูตรการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยานตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนด ซึ่งจะต้องมีการดูแลผู้ป่วยระหว่างนำส่งขณะอยู่บนอากาศยาน และมีการติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลปลายทางอย่างเป็นระบบในการรองรับผู้ป่วย