In Bangkok

กทม.ประชุมคณะผู้บริหารเดินหน้า4เรื่อง จุดผ่อนปรน-เนรมิตสวนลุม-รับมือปีใหม่



กรุงเทพฯ-(19 ธ.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 27/2565 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร  หารือ 4 เรื่องใหญ่ เดินหน้าจัดระเบียบจุดผ่อนผันต่อเนื่อง รถพ่วงข้างขึ้นทางเท้าจับปรับเหมือนรถจักรยานยนต์ เปิดเผยข้อมูลโปร่งใสให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้ ปรับลดงบปรับปรุงสวนลุมพินี เน้นความเป็นสวนสาธารณะและธรรมชาติ และเตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กรุงเทพมหานครได้จัดพื้นที่สำหรับลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ให้ทรงหายจากพระอาการพระประชวร ณ บริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า (กทม.1) ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง (กทม.2) สำนักงานเขต 50 เขต โรงเรียนในสังกัด กทม. ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง โรงพยาบาลในสังกัด กทม. และหน่วยงานราชการในสังกัด รวม 575 แห่ง ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนและประชาชน ร่วมลงนามถวายพระพรและส่งใจให้พระองค์ท่าน 

* เดินหน้าจัดระเบียบจุดผ่อนผันต่อเนื่อง รถพ่วงข้างขึ้นทางเท้าจับปรับเหมือนรถจักรยานยนต์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า ขณะนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศ ก็จะเห็นหาบเร่แผงลอยเพิ่มมากขึ้นในจุดต่าง ๆ ช่วงแรกจะดูเรื่องจุดผ่อนผันก่อน ซึ่งในช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ดูทั้งหมด 16 จุด ส่วนเดือน ก.พ. 66 จะเพิ่มอีก 29 จุด และเดือน พ.ค. 66 จะทำอีก 50 จุด โดยเป็นจุดที่มีอยู่แล้วแต่ปรับให้มีระเบียบเข้มข้นขึ้น ซึ่งมีเคสตัวอย่างเป็นต้นแบบ 8 จุด เช่น ถนนข้าวสาร แถวบางนา เป็นต้น นอกจากนี้จะเห็นรถพ่วงข้างเพิ่มมากขึ้นด้วย ได้กำชับห้ามรถพ่วงข้างขึ้นมาขายของบนทางเท้าเด็ดขาด ถ้ามีให้ปรับสูงสุดตามระเบียบเหมือนนำรถจักรยานยนต์ขึ้นบนทางเท้า รวมถึงใช้กล้อง CCTV เข้ามาช่วยในการจับปรับผู้กระทำผิดภายใน 20 นาที แต่จริง ๆ ในเรื่องนี้มี 2 มิติ ด้านหนึ่งเป็นความยากลำบากของคน แต่อีกด้านเป็นความระเบียบเรียบร้อยของเมือง ก็จะหาจุดที่สมดุลให้ได้ แต่ไม่มีนโยบายที่ผ่อนปรนเรื่องนี้ จุดผ่อนผันที่มีอยู่ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนว่าจะมีจุดไหนเพิ่มขึ้นไหม อาจหาจุดที่เหมาะสมรองรับผู้ละเมิดที่มีจำนวนมาก 

* เปิดเผยข้อมูลโปร่งใสให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้
ต่อมาเป็นเรื่อง OPEN BANGKOK คือ การนำข้อมูลที่ได้มาตรฐานมาเปิดให้ประชาชนเห็น น่าจะเปิดไปแล้วประมาณ 390 ชุด คาดว่าจะเปิดให้ได้ประมาณ 566 ชุด แล้วทำงานร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร. หรือ DGA) เพื่อให้เกิดความโปร่งใสขึ้น เมื่อข้อมูลถึงประชาชน ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้มากขึ้น สำหรับ OPEN BANGKOK มี 4 ด้าน คือ OPEN DATA เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของกรุงเทพมหานครตามความต้องการ OPEN CONTRACTING จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส OPEN POLICY เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้ข้อเสนอการพัฒนา และ OPEN SERIVCE ยกระดับบริการของกรุงเทพมหานครในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ (e-Service) สะดวก รวดเร็ว ขณะนี้มีเปิดการใช้งานแล้ว จำนวน 20 กระบวนงาน ซึ่งเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 65 เปิดการใช้งาน (ข.1) คำขออนุญาตก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร (บ้านพักอาศัยที่มีขนาดต่ำกว่า 300 ตารางเมตร) 

* ปรับลดงบปรับปรุงสวนลุมพินี เน้นความเป็นสวนสาธารณะและธรรมชาติ
ส่วนการปรับปรุงส่วนลุมพินีนั้น ก่อนหน้านี้มีนโยบายปรับปรุงสวนลุมพินีในโอกาสครบรอบ 100 ปี ใช้งบประมาณ 1,800 ล้าน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ด้วย แต่เราอยากให้สวนสาธารณะเป็นสวนสาธารณะที่แท้จริง ไม่อยากให้มีสิ่งปลูกสร้างเยอะ ให้สวนสาธารณะมีสภาพที่เป็นธรรมชาติจริง ๆ จึงได้มีการปรับลดงบประมาณลงขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 180 ล้าน หลัก ๆ จะทำพวกทางเดิน ความปลอดภัย แสงสว่าง ท่อระบายน้ำ ทางเดินเชื่อมระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ ย้ายสนามแบดมินตันทำทางเชื่อมเพื่อเพิ่มความสะดวกและให้ผู้พิการขึ้นลงได้ นำสิ่งปลูกสร้างเดิมหรืออาคารเดิมที่มีอยู่มาปรับใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด รวมถึงพิจารณาการทำพลังงานหมุนเวียนภายในสวน ทำระบบโซลาร์เซล และสิ่งต่าง ๆ ที่ นอกจากนี้ จะเพิ่มสวนสาธารณะที่สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในสวนฯ ได้มากขึ้น เช่น สวนรถไฟ สวนลุมพินี และสวนสาธารณะย่อยในพื้นที่เขตอีก 4 สวน ดูตัวโครงการให้ชัดเจนก่อน แล้วหารือเรื่องงบประมาณกับทางรัฐบาลอีกครั้ง ซึ่งโฉนดที่ดินน่าจะยังเป็นของ รัชกาลที่ 6 ก่อนที่จะทำอะไรก็จะต้องหารือกับทางสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก่อน ซึ่งอยากทำอีก 2 ส่วน คือ Hawker Center (ศูนย์อาหารที่อยู่ตรงข้างโรงพยาบาลจุฬาฯ) นำหาบเร่แผงลอยมาอยู่ตรงนี้ เป็นแหล่งอาหารราคาถูก อีกส่วนหนึ่งคือ ที่จอดรถ ถ้าสามารถพัฒนาให้มีที่จอดรถเพิ่มขึ้นจะช่วยอาคารใกล้เคียงให้สามารถใช้ร่วมกันได้ ซึ่งมีแนวทางให้เอกชนมาลงทุนแต่ต้องหารือกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจนก่อน 

* เตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการดูแลความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า กรุงเทพมหานครไม่ได้จัดงานปีใหม่ เน้นให้เอกชนเป็นผู้จัดมากกว่า โดยกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้สนับสนุนและดูแลด้านความปลอดภัย ซึ่งในปีนี้กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับวัดสุทัศน์จัดงานครบรอบ 215 ปี บริเวณลานคนเมือง และไม่ให้มีการเล่นดอกไม้ไฟ การจุดพลุต้องมีการขออนุญาต จะมีการออกประกาศห้ามเนื่องจากมีอันตราย ซึ่งจะคล้ายกับเทศกาลลอยกระทง และขอให้ทุกคนมีความสุขและระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ 

พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาได้มีการสำรวจสถานบริการที่มีความเสี่ยงเกือบ 300 แห่ง แต่จากข้อมูลที่ได้รับมีทั้งหมดประมาณ 650 แห่ง ซึ่งทั้ง 650 แห่ง เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และเป็นสถานที่ปิด จุคนได้มาก ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ก็จะมีการลงพื้นที่ดูความพร้อมของสถานที่และความพร้อมในการจัดงาน แนวทางการจัดงาน การเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย รวมถึงหารือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดูแลความปลอดภัยในจุดต่าง ๆ 

ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พื้นที่ที่ท่านปรึกษาฯ พูดเป็นร้านที่มีการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่มีพื้นที่อีกลักษณะหนึ่งคือพื้นที่จัดงานใหญ่ เช่น ลานเซ็นทรัลเวิลด์ที่ต่อเนื่องมาสยามพารากอน สยามสแควร์ รวมถึงไอคอนสยามที่ขอจัดงาน ซึ่งได้มีการประสานผู้ประกอบการเข้าช่วยบริหารจัดการพื้นที่ โดยมีพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่อยู่ประจำหากเกิดเหตุจะได้สามารถเข้าระงับเหตุได้ง่าย จะมีการทำแผนร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของบ้านเรือนที่อาจไปเที่ยวช่วงปีใหม่และไม่มีใครอยู่บ้าน ได้มอบหมายสำนักงานเขตและสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตรวจสอบพื้นที่รกร้าง เฝ้าระวังเรื่องอัคคีภัย พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยต่าง ๆ และขอความร่วมมือประชาชนให้ตรวจสอบบ้านเรือนให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน