In Thailand

พ.ร.บ.กฟก.ตรวจเยี่ยมองค์กรต้นแบบเกษตรกรจ.ราชบุรี



ราชบุรี-รองเลขาธิการสนง.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมตรวจเยี่ยมกลุ่มองค์กรที่ได้เข้าสู่กระบวนการ การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ หลังได้รับการชำระหนี้แทน ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟู

วันนี้ (20 ธ.ค.) ตั้งแต่เวลา 09.00 น. นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการสนง.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร , นายอดิศร กิจขยัน ผอ.กองจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 2 และ นายชยเดช โพธิคามบำรุง กองนโยบายพัฒนาระบบเงินภาคประชาชน กระทรวงการคลัง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมตรวจเยี่ยมกลุ่มองค์กรที่ได้เข้าสู่กระบวนการ การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ หลังได้รับการชำระหนี้แทน ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟู

หลังครม. (22 มี.ค. 65) มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการลดหนี้และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ซึ่งมีเกษตรกรที่ ที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 50,621 ราย ยอดหนี้เงินต้นจำนวน 9,282.92 ล้านบาท

โดยได้เข้าตรวจเยี่ยมที่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ (พ่อสร้าง ลูกสาน) เส้นคุณย่า เลขที่ 3/1 หมู่ 6 ต.เตาปูน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โดยมี นายกฤษณะ ฮวดลิ้ม ประธานกลุ่มองค์กรเกษตรกรคนรุ่นใหม่ เส้นขนมจีนคุณย่า ให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชมกาการแปรรูปข้าวเป็นขนมจีน ตั้งแต่ขั้นตอนการสีข้าวจนถึงการออกจำหน่ายสู่ตลาด และผลิตภัณฑ์การแปรรูปต่างๆของกลุ่มสมาชิกองค์กร

ซึ่งองค์กรเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ด้วยวิถีภูมิปัญญาไทย ขนมจีนเส้นคุณย่า ได้รวมกลุ่มเกษตรกรที่มีประสบปัญหาสภาวะเป็นหนี้ โดยมีสมาชิกรวม 179 คน เป็นกลุ่มองค์กรต้นแบบ ที่ทางสนง.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ให้ความช่วยเหลือ ตั้งแต่ให้ความรู้ ชำระหนี้แทน ให้เงินฟื้นฟู ร่วมทั้งนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อหลวงร.9 มาให้ทางกลุ่มองค์กรใช้เป็นแนวทาง จนกลุ่มเข้มแข็งประสบความสำเร็จ และต่อยอดผลผลิตออกไปได้ จนปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกที่ปิดบัญชีชำระหนี้คืนแล้วจำนวน 3 ราย มูลค่ารวมกว่า 1.4 ล้านบาท

โดยกลุ่มองค์กรเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ขนมจีนเส้นคุณย่า เป็นกลุ่มที่แปรรูปข้าวมาทำเป็นขนมจีน มีวิธีทำทั้งหมด 11 ขั้นตอน ตั้งแต่สีข้าว หมักข้าว โม่ข้าว หมักแป้ง โรยเส้น จับเส้น จนสู่การออกขาย โดยใช้ข้าวสาร 100 กก. ผลิตเส้นขนมจีนได้วันละ 500 กก. ซึ่งจะขายขนมจีน กก.ละ 30 บาท โดยมีกลุ่มลูกค้าเป็นพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัด และชาวบ้านในพื้นที่และต่างจังหวัด และมีการต่อยอดเปิดเป็นบุฟเฟ่ต์ขนมจีน ที่นำเส้นขนมจีนมาประกอบอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอีก

นางสำเนียง ฮวดลิ้ม ประธานกลุ่มคนที่แรก เล่าให้ฟังว่า เธอมีอาชีพทำนาตั้งแต่ดั้งเดิม ต้องนำข้าวขายให้โรงสีข้าวนายทุน แต่ทำเท่าไหร่ก็เป็นหนี้สิ้น เพราะต้องจ่ายค่าปุ๋ยค่ายา จนไม่มีกำไรและเป็นหนี้สิ้นกว่า 8 ล้านบาท จนมีโครงการพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูฯ เธอจึงเข้าโครงการฯ จนสามารถใช้หนี้สิ้นได้กว่า 7 ล้านบาท ต่อมาเธอได้ต่อยอดนำข้าวสารในกลุ่มองค์กร มาแปรรูปเป็นขนมจีน โดยได้รับความช่วยและคำปรึกษาจากกองทุนฟื้นฟูฯ จนทุกวันนี้สมาชิกเกษตรกรในกลุ่มที่เคยเป็นหนี้สิ้นจากการทำนา สามารถชำระหนี้ได้แล้วหลายราย เธอและเกษตรกรรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงพระราชทานพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูฯนี้มา และเธอต้องขอขอบคุณจนท.ทุกๆท่าน ที่มีส่วนร่วมกับกองทุนฟื้นฟูฯนี้ เหมือนเป็นความหวังสุดท้ายของเกษตรกรจริงๆ

ขณะที่ นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวว่า กลุ่มองค์กรเกษตรกรคนรุ่นใหม่ เส้นขนมจีนคุณย่า ถือว่าเป็นกลุ่มต้นแบบที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ตรงตามวัตถุประสงค์ขององค์กรที่วางไว้ โดยการใช้ผลผลิตการเกษตรที่มีอยู่ นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต และยังสามารถต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกไปได้ ซึ่งทางกองทุนคาดหวังว่า อยากจะให้กลุ่มองค์กรเส้นขนมจีนคุณย่า เป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มองค์กรอื่นๆทั่วประเทศ เป็นแบบอย่างที่จะทำตามจนประสบความสำเร็จทุกองค์กร และสามารถหลุดพ้นจากภาวะหนี้สิ้นได้โดยเร็ว

ด้าน นายกฤษณะ ฮวดลิ้ม ประธานเกษตรกรคนรุ่นใหม่ เปิดเผยว่า ที่มาของการรวมตัวตั้งเป็นองค์กร มาจากแม่ของตนที่ประสบปัญหาเรื่องภาระหนี้สิน ต้องนำที่ดินไปจำนองไว้กับธนาคาร ซึ่งไม่มีหนทางไหนที่จะสามารถช่วยเหลือแม่ของตนได้ จนมีพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูหนี้ออกมา ทำให้ครอบครัวของตนมีตัวช่วย จนแม่ของตนได้จัดตั้งกลุ่มองค์กรนี้ขึ้นมา ซึ่งตนถือเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งการดำเนินงานขององค์กรจะมีตั้งแต่ ด้านการผลิตเช่น การปลูกข้าว เกี่ยวข้าว และสีข้าวเอง โดยทุกส่วนของต้นข้าวจะนำมาใช้ประโยนช์อย่างสูงสุด ทั้งยังใช้พื้นที่นาข้าวมาปรับใช้เลี้ยงไก่และเป็ด ถือเป็นผลพลอยได้จากการทำนา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9

ด้านการแปรรูป ได้นำข้าวมาแปรรูปให้เป็นเส้นขนมจีนแบบดั้งเดิม หรือเส้นขนมจีนแป้งหมัก โดยมีตลาดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามตลาดเกษตรกรของจังหวัด และที่ตั้งขององค์กร และยังต่อยอดเปิดจำหน่ายเป็นบุฟเฟ่ต์ขนมจีนในที่ตั้งองค์กร พร้อมเปิดตลาดออนไลน์ โดยมีเพจเฟซบุ๊คชื่อ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ เอาไว้ให้ประชาชนที่สนใจติดต่อเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ของกลุ่มองค์กร

ส่วนด้านการออม จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยให้สมาชิกออมเดือนละ 200 บาท เมื่อครบ 1 ปีจะคืนเงินให้สมาชิก ส่วนที่ 2 ออมเป็นกองทุนรวม เพื่อใช้เป็นวงเงินฉุกเฉิน เพื่อให้สมาชิกภายในกลุ่มองค์กรกู้ยืม โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาทของเงินต้น ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยสมาชิกในกลุ่มมีการชำระหนี้คืนให้กับกองทุนฟื้นฟูไปแล้วถึง 3 ราย จาก 6 ราย ซึ่งในอนาคตตนจะเป็นศูนย์เรียนรู้ ให้กับกลุ่มองค์กรต่างๆที่สนใจ รวมเด็กนักเรียนที่อยากเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตชาวนาอีกด้วย

ด้าน ดร.กฤษฏา ให้วัฒนานุกูล อนุกรรมการกองทุนฟื้น จ.ราชบุรี กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีขึ้นมาตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูหนี้สินเพื่อพัฒนาเกษตรกร เช่น องค์กรเกษตรกรคนรุ่นใหม่ เส้นขนมจีนคุณย่า แห่งนี้ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหาภาระหนี้ แล้วให้ทางกองทุนมาช่วยลดและชำระหนี้ให้ โดยทางกองทุนไม่มีการคิดดอกเบี้ย ซึ่งเกษตรกรจะไม่ต้องเป็นหนี้กับทางธนาคาร แต่มาเป็นหนี้กับทางกองทุนฯแทน

สำหรับการจะเข้ามาอยู่ในโครงการกองทุนฯ และให้ทางกองทุนฯชำระหนี้ให้ก่อน จะต้องมีการร่วมกลุ่มจัดตั้งองค์กร มีสมาชิกมากกว่า 50 คนขึ้นไป และต้องจัดทำแผนการหารายได้ ลดรายจ่าย และการดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการพัฒนาผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่ม จนสามารถต่อยอดให้ออกจำหน่ายไปสู่สาธารณะได้ ซึ่งจุดประสงค์หลักของกองทุนฯ ต้องการที่จะแก้ไขปัญหาให้สมาชิกทุกคน หลุดพ้นจากวังวนหนี้สิน และสร้างอนาคตใหม่ที่ดีกว่าเดิม ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9

สุจินต์ นฤภัย / ราชบุรี