In Bangkok
'จักกพันธุ์'ต่อยอดแยกขยะบางคอแหลม บุกดูฝุ่นแพลนท์ปูนตรวจวัดค่าฝุ่นPM2.5

กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ต่อยอดคัดแยกขยะยกระดับเขตบางคอแหลม ชมคัดแยกขยะชุมชนสวนหลวง 1 จัดระเบียบผู้ค้าตลาดบางคอแหลม ปรับปรุงสวนหย่อมแท่นศิลาฤกษ์ สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แก้จุดเสี่ยงภัยอาชญากรรมในพื้นที่ ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูน CPAC
(21 ธ.ค.65) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตบางคอแหลม เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
เยี่ยมชมการคัดแยกขยะ เพื่อต่อยอดการคัดแยกขยะระดับเขตให้สมบูรณ์ครบวงจร ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เขตบางคอแหลม โดยเขตฯ ได้คัดแยกขยะเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะเศษอาหาร ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย ซึ่งขยะที่คัดแยกจะนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ขยะเศษอาหาร เปลือกผลไม้ นำไปทำน้ำหมักชีวภาพ หรือปุ๋ยหมักอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขวดพลาสติกใส ขวดน้ำดื่ม เก็บรวบรวมส่งต่อ เพื่อทำชุดเรืองแสงของพนักงานกวาด หรือทำชุด PPE ทางการแพทย์
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนสวนหลวง 1 ซอยเจริญกรุง 103 เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประเภทแออัด ขนาดพื้นที่ 15 ไร่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บ้านเรือน 520 หลัง ครอบครัว 669 ครัวเรือน ประชากร 2,640 คน ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ชุมชนสวนหลวง 1 มีขยะในครัวเรือนต่อวัน ประมาณ 2,400 กก./วัน ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ชุมชนสวนหลวง 1 ได้ส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะ โดยแยกประเภทขยะมูลฝอยจากครัวเรือน ดังนี้ ขยะทั่วไป 1,850 กก. คิดเป็นร้อยละ 77 ของมูลฝอยทั้งหมด ขยะอินทรีย์ 230 กก. คิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลฝอยทั้งหมด ขยะรีไซเคิล 320 กก. คิดเป็นร้อยละ 13 ของมูลฝอยทั้งหมด วิธีการคัดแยกขยะโดยจำแนกตามประเภทของขยะ ได้แก่ 1.ขยะอินทรีย์ มีจุดทิ้งขยะเป็นบ่อซีเมนต์ที่ชุมชนจัดหาเอง มีการคัดแยกขยะเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมัก นำมูลฝอยอินทรีย์เปลือกผลไม้มาทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ประโยชน์ในชุมชน 2.ขยะรีไซเคิล มีจุดทิ้งขยะรีไซเคิล มีการคัดแยกขยะเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ด้วยตนเอง นำขยะรีไซเคิลมาแลกน้ำหมักชีวภาพหรือน้ำยาอเนกประสงค์ 3.ขยะทั่วไป ประชาสัมพันธ์และนัดหมายเวลาทิ้ง เวลาเก็บขยะ โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนนำขยะผูกปากถุงให้มิดชิดวางไว้บริเวณหน้าบ้านของตนเอง จะมีเจ้าหน้าที่มาจัดเก็บเป็นประจำทุกวัน และมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครชักลากมูลฝอยในชุมชนสนับสนุนการจัดเก็บมูลฝอยในชุมชน จำนวน 1 คน 4.ขยะอันตราย มีจุดทิ้งขยะในชุมชน โดยให้ประชาชนในชุมชนนำมาทิ้ง เพื่อรอการจัดเก็บจากเจ้าหน้าที่ สำหรับปริมาณขยะก่อนดำเนินการ 2,400 กก./วัน (ฐานข้อมูล ปี 2565 ก่อนเดือนมิถุนายน 2565) ปริมาณขยะหลังดำเนินการ 1,850 กก./วัน (ฐานข้อมูล ปีปัจจุบัน พ.ศ.2566) ปริมาณขยะส่วนต่างที่ลดลง 550 กก./วัน ส่วนปริมาณขยะมูลฝอยที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ ขยะอินทรีย์ 230 กก./วัน ขยะรีไซเคิล 320 กก./วัน รวมปริมาณที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ 550 กก./วัน คิดเป็นร้อยละ 29.72 จากขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด เขตฯ เข้าจัดเก็บขยะเป็นประจำทุกวัน ช่วงเวลา 16.00-18.00 น. กรณีขยะชิ้นใหญ่และขยะอันตราย จะนัดหมายเวลาให้เจ้าหน้าที่เข้าไปจัดเก็บประมาณ 3 เดือน/ครั้ง
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน ตลาดบางคอแหลม เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าในจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด ดังนี้ 1.ตลาดบางคอแหลม ผู้ค้า 42 ราย 2. เจริญกรุง 89-91 ผู้ค้า 14 ราย 3.บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ถนนเจริญราษฎร์ ฝั่งบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ผู้ค้า 8 ราย และฝั่งตรงข้ามบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ผู้ค้า 76 ราย อยู่ระหว่างประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.เจริญกรุง 81-85 ผู้ค้า 43 ราย 2.ตลาดคลองสวนหลวง ถนนเจริญกรุง 101-103 ผู้ค้า 93 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 12 จุด มีผู้ค้ารวมทั้งสิ้น 169 ราย ดังนี้ 1.บริเวณบริษัท บางกอก รับเบอร์ ผู้ค้า 56 ราย 2.ข้างวัดไผ่เงินโชตนาราม ผู้ค้า 12 ราย 3.หน้าศูนย์บริการสาธารณะสุข 18 ผู้ค้า 24 ราย 4.ซอยเจริญกรุง 109 ผู้ค้า 10 ราย 5.หน้าโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 9 ราย 6.หลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 18 ราย 7.หัวมุมถนนตก ผู้ค้า 1 ราย 8.ซอยจันทน์ 42 ผู้ค้า 10 ราย 9.ปากซอยกิ่งจันทน์ ผู้ค้า 18 ราย 10.ถนนเจริญกรุง 99 ผู้ค้า 8 ราย 11.ถนนเจริญกรุง 93 ผู้ค้า 2 ราย 12.สุดถนนเจริญกรุง ผู้ค้า 1 ราย
ปรับปรุงสวน 15 นาที สวนหย่อมแท่นศิลาฤกษ์ ถนนพระรามที่ 3 เขตฯ มีพื้นที่สวน 15 นาที จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมใต้สะพานพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 89 ตาราวา เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งมอบให้สำนักงานเขตบางคอแหลมเป็นผู้ดูแล 2.สวนหย่อมแท่นศิลาฤกษ์ ถนนพระรามที่ 3 พื้นที่ 2 งาน 5 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นตัวหนอน ลานอเนกประสงค์ ให้สวยงามและปลอดภัย มีการปลูกต้นไม้และตัดแต่งต้นไม้ 3.สวนหย่อมซอยมาตานุสรณ์ เชิงสะพานพระราม 3 พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งมอบให้สำนักงานเขตบางคอแหลมเป็นผู้ดูแล นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จะสร้างสวนใหม่ จำนวน 1 แห่ง คือพื้นที่ว่างบริเวณชุมชนวัดไผ่เงิน ซอยเจริญราษฎร์ 7 แยก 35-9 พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา ซึ่งได้ประสานเจ้าของที่เพื่อทำสัญญาการใช้พื้นที่ระยะเวลา 7 ปี ซึ่งเจ้าของยินยอมให้ใช้ประโยชน์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทรัพย์สินของเอกชนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์
สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บริเวณถนนจันทน์ 43 แยก 26 ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 19,866 แปลง สำรวจแล้ว 19,722 แปลง คงเหลือ 144 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 32,195 แห่ง สำรวจแล้ว 28,878 แห่ง ห้องชุด 8,218 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 60,279 รายการ สำรวจแล้ว 56,818 รายการ คงเหลือ 3,461 รายการ อย่างไรก็ตามสภาพที่ดินในปัจจุบัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องลงพื้นที่สำรวจสภาพพื้นที่จริง เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ตรวจจุดเสี่ยงภัยอาชญากรรม ที่รกร้างข้างโชว์รูมโตโยต้า เขตฯ มีจุดเสี่ยงภัยอาชญากรรม ดังนี้ 1.ถนนพระรามที่ 3 ข้างเขื่อน BRT หน้าบ้านเลขที่ 644/43 2.ท้ายซอยเจริญกรุง 107 แยก 7 (ซอยประดู่) 3.สวนสาธารณะ ใต้สะพานพระราม 3 4.ทางเดินริมคลองเจริญกรุง 109 5.ที่รกร้างข้างโชว์รูมโตโยต้า 6.ที่รกร้างถนนพระรามที่ 3 ซอย 18 7.ที่รกร้างสุดซอยตระกูลโต๋ว 8.สะพานลอยวัดราชสิงขร และ 9.ชุมชนบางคอแหลม ถนนเจริญกรุง 107 ซึ่งจุดเสี่ยงภัยจะเป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่เอกชนรกร้างว่างเปล่า เป็นซอยค่อนข้างเปลี่ยว จุดอับสายตา บางจุดมีคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน คนจรจัดมาอาศัยหลับนอนในเวลากลางคืน เขตฯ ได้ดำเนินการติดตั้งตู้เขียว ให้เจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราเฝ้าระวัง วันละ 3 เวลาเช้า กลางวัน กลางคืน รวมถึงติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติม และติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC ในพื้นที่เขตฯ มีสถานประกอบการ/โรงงาน 16 แห่ง แพลนท์ปูน 2 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง 3 แห่ง อู่รถสาธารณะ 2 แห่ง โดยเขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบวัดค่าฝุ่น PM2.5 ในสถานประกอบการ/โรงงาน แพลนท์ปูน สถานที่ก่อสร้าง และอู่รถสาธารณะ ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัย พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ตรวจวัดควันดำรถโม่ปูน รถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซลจากต้นทาง รณรงค์จอดรถดับเครื่องยนต์ทุกครั้งที่ไม่ได้ขับ กวดขันพนักงานขับรถให้ตรวจสอบบำรุงรักษาเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ กำชับให้ฉีดพรมน้ำบริเวณกองหินทรายในแพลนท์ปูน ควบคุมให้มีการล้างล้อรถก่อนออกจากแพลนท์ปูน เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และป้องกันมลพิษในอากาศ
ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับฟังรายงานเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การจัดงาน “ก้าวสู่ 123 ปี มัสยิดอัสสละฟียะฮ์” ในเบื้องต้น ณ มัสยิดอิสสละฟียะฮ์ ถนนเจริญกรุง จากการที่มัสยิดอิสสละฟียะฮ์ได้ขอเข้าพบผู้ว่าฯ กทม. เพื่อหารือรายละเอียดการจัดงานดังกล่าว ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางวาสนา บูรณกิตติโสภณ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางคอแหลม สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม ชาวชุมชนสวนหลวง 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล