In Bangkok

ผู้ว่าฯสัญจรสำนักสิ่งแวดล้อมกำชับใช้งบ อย่างโปร่งใสและคุ้มค่า



กรุงเทพฯ-“วันนี้มาสัญจรที่สำนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสำนักที่ 3 ที่มา หลังจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เรื่องสิ่งแวดล้อมถือว่ามีความสำคัญลำดับต้น ๆ โดยเฉพาะการทำให้เมืองน่าอยู่ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบในหลาย ๆ ด้าน อาทิ เรื่องพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ การดูแลเรื่องขยะ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ การดูแลเรื่องฝุ่น PM2.5 การดูแลเรื่อง Net Zero และการทำเมืองให้ยั่งยืน” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้อง ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักสิ่งแวดล้อม วันนี้ (26 ธ.ค. 65)

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า พื้นที่สีเขียวทำได้ดี เพราะที่ผ่านมาก็มีการปลูกต้นไม้เพิ่มไปราว 2 แสนต้น ตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมาย และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนเรื่องขยะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นตัวที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาเรามีโครงการที่ผูกพันเกี่ยวกับขยะเกือบ 6 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้น ในแง่ของการบริหารจัดการ การเช่ารถต่าง ๆ การจัดการเรื่องเก็บขยะอย่างน้อยประมาณ 4 พันล้านบาท ก็ต้องดูให้มีความโปร่งใส และให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสิ่งที่มีผลกระทบกับประชาชน เช่น ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชที่มีการส่งกลิ่นเหม็น รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ ที่สายไหม ซึ่งมีโครงการจะทำโรงไฟฟ้าเผาขยะเพิ่ม ต้องดูให้รอบคอบถึงพื้นที่ตั้งให้มีความเหมาะสม สัญญาจ้างต่าง ๆ ดูให้คุ้มค่า เช่น เรามีการจ้างรถดูดฝุ่น 50 คัน ค่าจ้างประมาณ 12,000 บาทต่อวัน ก็ต้องดูให้มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลคุ้มค่า เพราะค่าจ้างในระยะยาวเป็นพันล้าน ค่าจ้างรถขนสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ด้วย โดยทั้งหมดต้องเน้นเรื่องความโปร่งใส 

● ติดตั้งเครื่องวัด PM2.5 เพิ่มเติม มอนิเตอร์ Hot Spot ใกล้ชิด เร่งรัดกำจัดต้นตอฝุ่นเข้มข้น เล็งทำห้องปลอดภัยในพื้นที่เปราะบาง

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สำหรับเรื่องฝุ่น PM2.5 สถานการณ์ตอนนี้เริ่มรุนแรงขึ้น ซึ่งฝุ่นมาจาก 3 แหล่ง คือ เผาไหม้ไอเสียรถ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล การเผาชีวมวล และโรงงานอุตสาหกรรม เราได้ทำการติดตั้งเครื่องวัดเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น บริเวณรอบโรงงานอุตสาหกรรม ไซต์งานก่อสร้าง โรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งมีคนร้องเรียนมาว่ามีการปล่อยฝุ่น แต่ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน ก็ให้ไปดูแลพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ถนน 17 สายที่ไม่ได้ห้ามรถบรรทุกวิ่งเป็นเวลา เช่น ทางรถไฟสุขุมวิทสายเก่า เส้นที่มีรถบรรทุกวิ่งตลอดก็ต้องตรวจสอบว่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นจากการขนส่งหรือไม่

การเผาชีวมวล ช่วงนี้เริ่มเห็นในเขตรอบเมือง เช่น ปทุมธานี เริ่มมีการเผาชีวมวลให้เห็นเป็น Hot Spot เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าเราพบเห็นในกรุงเทพฯ จะเข้าไปจัดการทันที เพราะมีการมอนิเตอร์จากดาวเทียมอยู่ ถ้ามีเหตุจะให้ทางเขตเข้าไปดูยังจุด Hot Spot ทันที ขณะเดียวกันก็เริ่มมี Hot Spot ในประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันเป็นภาวะที่ลมพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น การเผาชีวมวลจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ รวมถึงกัมพูชา ก็มีโอกาสที่จะพัดมา ประกอบกับเมื่ออากาศเย็นลง เพดานการลอยตัวอากาศที่ฝุ่นจะลอยขึ้นไปได้จะถูกบีบต่ำลง ขณะที่ฝุ่นเท่าเดิมแต่เมื่อถูกบีบลงความหนาแน่นของฝุ่นจะเพิ่มขึ้น ก็ทำให้เกิดสภาวะที่ฝุ่นเพิ่มขึ้นได้ จึงเร่งรัดให้กำจัดต้นตอของฝุ่น ตรวจเข้ม เช่นเมื่อวาน พบกรณีรถเมล์ สาย 501 ปล่อยควันดำ ถ่ายรูปมาแล้ว ก็จะต้องเร่งไปตรวจสอบที่อู่ ต้องเอาจริงเอาจังและให้ประชาชนมีส่วนในการแจ้งผ่าน Traffy Fondue ทั้งรถประจำทาง หรือไซต์ก่อสร้างต่าง ๆ ในส่วนโรงงานอุตสาหกรรมก็ให้มอนิเตอร์และร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษใกล้ชิด 

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า วันก่อนคุยกับหมอที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ได้แนะนำมาว่าควรจะทำห้องปลอดภัย/ปลอดฝุ่น เพิ่มตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ที่มีกลุ่มเปราะบาง โดยทำพื้นที่ที่มีตัวกรองอากาศ อาจจะใช้งบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพในการทำห้องปลอดภัย/ปลอดฝุ่นเพิ่มเติมในพื้นที่เปราะบาง สำหรับเรื่องฝุ่นเราก็ดำเนินการเต็มที่ ที่ผ่านมาเราได้มีการทำ War Room มีการทำข้อมูลที่อัปเดต มีการตรวจพื้นที่ทุกวัน มีการห้ามรถวิ่งเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการตรวจและกำชับไซต์ก่อสร้างให้ปรับปรุงการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองสูง

● ทอนเป้าหมาย Net Zero ให้สั้นลง เล็งใช้โซลาร์เซลล์มากขึ้น

“เรื่อง Net Zero หรือการลดภาวะเรือนกระจก คือเรื่องใหญ่ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมดูแลโดยตรง โดยต้องเริ่มที่ 2 ส่วน คือ 1. เริ่มที่กทม. ต้องทำ Carbon Footprint ของกทม.ให้ชัด ว่าเราใช้คาร์บอนเท่าไร และ 2. ต้องทำ Carbon Footprint ของเมือง ว่าเมืองจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละกี่ตัน พอเรามีเป้าหมาย เราจะสามารถลดได้ โดยได้ให้นโยบายไปว่า อย่าไปตั้งเป้าหมายไกลเกินไป เช่น บางทีเราตั้ง อีก 15 ปีข้างหน้าจะเป็น Net Zero การที่เราตั้งเป้าหมายไกล สุดท้ายจะไม่มีใครทำ เพราะคิดว่าเราอยู่ไม่ถึงเวลานั้น ต้องทอนเป้าหมายให้สั้นลง อาจจะเป็นรายปี เช่น ปีนี้เราจะลดกี่เปอร์เซ็นต์ และเราต้องเอาจริงเอาจัง เริ่มจากการทำในตัวอาคารของกรุงเทพมหานครก่อน การใช้โซลาร์เซลล์ ลดการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิล ต้องพยายามใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ให้มากขึ้น เช่น แสงอาทิตย์ ซึ่งก็จะมีการไฟฟ้านครหลวงเข้ามาประเมินอาคาร รวมถึงการลองพิจารณาใช้โซลาร์เซลล์ชนิดลอยน้ำ (Floating Solar) ในพื้นที่ของกทม.ที่สามารถทำเพิ่มได้ เช่น บึงหนองบอน ซึ่งเรามีโรงบำบัดน้ำเสียและอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนอยู่ ถ้าเราเพิ่มโซลาร์เซลล์ที่ลอยน้ำเข้าไป ก็จะได้นำไฟไปสนับสนุนระบบต่าง ๆ หรือสวนลุมพินี ซึ่งมีห้องสมุดและศูนย์สร้างสุขทุกวัยอยู่ ถ้าเรามีพื้นที่น้ำที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมก็นำไปติดตั้งได้ เพราะจริง ๆ แล้ว โซลาร์เซลล์ก็ช่วยลดการระเหยของน้ำ ก็ต้องดูการติดตั้งให้เหมาะสม และอาจจะนำไฟจากโซลาร์เซลล์ไปใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ของกทม.ได้ ต้องประเมินว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อเป็นตัวอย่าง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันของทั้งกรุงเทพมหานครก็ควรจะมีการสนับสนุนการใช้โซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น เราสามารถเป็นมหานครของพลังงานแสงอาทิตย์ได้เลย เพราะเราอยู่ในตำแหน่งที่มีแสงอาทิตย์ตลอดปี วันก่อนได้ไปดูงานที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาทำได้ดี ติดโซลาร์เซลล์ 5 เมกะวัตต์ ลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 30% ฉะนั้น อนาคตเราต้องพยายามสนับสนุนตรงนี้ให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งได้ให้นโยบายไปว่า เราต้องพยายามสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนสามารถลงทุนเรื่องโซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น

● ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ หัวใจคือโปร่งใส เพื่อความยั่งยืน

“เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกระทบกับชีวิตเราในทุกมิติ และหัวใจคือเรื่องความโปร่งใส ใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ บริหารจัดการขยะเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งคำว่า ‘ความยั่งยืน’ เกี่ยวข้องกับสำนักสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ทั้งในแง่ของฝุ่น ขยะ และการใช้งบประมาณในระยะยาว” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเน้นย้ำ

● สั่งการ ผอ.เขตบางรัก ดูแลกรณีรถขยะกลับรถผ่านเกาะกลาง พร้อมเร่งคืนผิวจราจรแนวรถไฟฟ้า

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีรถขยะของ กทม. กลับรถผ่านเกาะกลางสีลม เขตบางรัก ซึ่งเกาะกลางที่สีลมขณะนี้มีการปรับปรุงเรื่องทางเท้าอยู่ คือให้คนพิการสามารถใช้ได้ เดินได้ วีลแชร์ได้ สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนก็มีความผิดแน่นอน ก็ต้องมีการลงโทษคนที่ไปฝ่าฝืนระเบียบวินัยจราจร และต้องไม่ทำอีก นอกจากนี้ต้องทำมาตรการป้องกัน เช่น เสา ป้ายสัญญาณห้ามกลับรถให้ชัดเจน ได้สั่งการทาง ผอ.เขต ให้ดูแลเรื่องนี้แล้ว  ในส่วนของการคืนพื้นผิวจราจรตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีการเร่งรัดให้คืนพื้นที่ให้เร็วที่สุดอีกครั้งหนึ่ง

● งานปีใหม่ยังจัดได้ปกติ ภายใต้มาตรการความปลอดภัย

สำหรับความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หลักการคือการลงตรวจพื้นที่ก่อน ในพื้นที่ปิดและมีความเสี่ยงต่ออัคคีภัย เราได้ลงไปตรวจพื้นที่ตั้งแต่เดือน ส.ค. 65 แล้ว ดูเรื่องทางหนีไฟ วัสดุติดไฟ การตรวจประเมินต่าง ๆ ส่วนพื้นที่เปิด ก็ต้องมีการควบคุมจำนวนคน ไม่ให้แออัดในพื้นที่มากเกินไป โดยดูประกอบกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วย เช่น การฉีดวัคซีนบูสเตอร์ ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง ปัจจุบันยังไม่มีคำสั่งห้ามจัดงานเคาท์ดาวน์ หากไม่มีข้อมูลอะไรใหม่ก็จัดได้ตามปกติ ชีวิตเดินหน้าต่อไป โดยระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยให้ดี ดื่มสุราอย่าขับรถ ในส่วนของ กทม. มีงานเฉลิมฉลองมหรสพสมโภช 215 ปี วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2566 เวลา 15.00 - 21.00 น. ณ วัดสุทัศนเทพวราราม และลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และมีพิธีทำบุญวัดคู่เมือง เนื่องในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ประจำปี 2566 ในวันที่ 9 มกราคม 2566 

● กทม.เตรียมร่างจดหมายขอภาครัฐสนับสนุนงบท้องถิ่น หลังลดภาษีที่ดินฯ เป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งคือ ของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลให้ประชาชน คือ การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15% ก็ต้องเรียนว่า เราก็ดีใจที่ประชาชนจะลดค่าใช้จ่ายได้ แต่ในขณะเดียวกัน เงินก้อนนี้เป็นเงินของท้องถิ่น 100% เลย มันคือเงินที่เราเอามาใช้ดูแลคนในท้องถิ่น เป็นค่าอาหารกลางวันเด็ก เป็นเงินที่เรานำมาพัฒนาต่าง ๆ ในท้องถิ่น ซึ่ง 15% นี้ รายได้กทม.จะหายไปน่าจะประมาณ 2 พันล้านบาท ต้องเรียนทางรัฐบาลว่า เราก็หนักมาจากช่วงโควิด-19 ที่ลดลงไป 90% หรือเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลชดเชยมาให้พันกว่าล้าน  ครั้งนี้เป็นของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลให้ประชาชน แต่ท้องถิ่นต้องเป็นคนแบกรับ ต้องขอเป็นตัวแทนท้องถิ่นว่า ถ้าเป็นไปได้ให้สนับสนุนงบท้องถิ่นคืนมา เพราะท้องถิ่นเราทำงบประมาณแบบสมดุล คือเราออกงบประมาณไปแล้ว เราประมาณการรายรับ-รายจ่ายไว้แล้ว เราไม่สามารถกู้เงินมาโปะได้ ก็ต้องฝากแทนท้องถิ่นด้วย  

“จริง ๆ แล้ว เจตนารมณ์ของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือกฎหมายที่ลดความเหลื่อมล้ำ ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียภาษีนี้เพราะไม่มีที่ดิน คนที่เสียภาษีคือผู้มีรายได้เยอะ กลายเป็นว่าเราตัดเงินที่จะนำมาช่วยคนมีรายได้น้อย คนที่ได้ประโยชน์อาจจะเป็นที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว ก็ต้องเรียนถึงรัฐบาลว่า ถ้าท่านพอมีงบประมาณเหลือก็ช่วยคืนมาให้กับทางท้องถิ่น ไม่เพียงกทม. แต่หมายรวมถึงท้องถิ่นทั่วประเทศ เพราะมีภาระที่ต้องดูแลประชาชนในเส้นเลือดฝอยและผู้มีรายได้น้อยอีกจำนวนมาก ก็ต้องฝากด้วย เพราะมีผลกระทบกับเราเหมือนกัน เดี๋ยวในระดับท้องถิ่นจะมีการประชุมกัน ซึ่งได้ฝากรองผู้ว่าฯ ให้ไปดูเรื่องนี้ และจะมีการร่างจดหมาย สรุปตัวเลข และจะนำเรียนข้อเท็จจริงกับทางกระทรวงมหาดไทยต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย

● ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ร่วมโต๊ะมื้อเที่ยง กับ 5 ตัวแทนสำนักสิ่งแวดล้อม

จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม 5 ราย ได้แก่ นายวิรัช จันดาลี พนักงานสวนสาธารณะ สังกัดสวนจตุจักร สำนักงานสวนสาธารณะ นายเดชา เมืองยศ พนักงานทั่วไป บ 2 สังกัดกลุ่มงานเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและเสียง กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง นางศรีนวน พัฒนะวสุตม์ พนักงานทั่วไป บ 2 ฝ่ายเก็บขนมูลฝอย ส่วนบริการจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอย นางประไพ แตงโสภา พนักงานทั่วไป บ 2 ฝ่ายขนถ่ายสิ่งปฏิกูลและไขมัน ส่วนบริการจัดการสิ่งปฏิกูล สำนักงานจัดการมูลฝอย และนางสาวดวงมณี ใจซื่อ พนักงานทั่วไป บ 2 สังกัดศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช กองกำจัดมูลฝอย โดยได้พูดคุยถึงชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัว สอบถามสารทุกข์สุกดิบและรับฟังปัญหาต่าง ๆ รวมถึงได้ให้กำลังใจในการทำงานด้วย สำหรับเมนูอาหารวันนี้ ได้แก่ ข้าวขาหมู หมูตุ๋น ผัดหมี่ ถั่วเขียวต้มน้ำลำไย และผลไม้

ทั้งนี้ การรับประทานอาหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเป็นหนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เพื่อพบปะพูดคุย รับฟังปัญหา และสอบถามถึงอุปสรรคในการทำงานเพื่อนำไปแก้ไข ทั้งยังเป็นการให้ความสำคัญเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้ชิดพื้นที่ซึ่งเปรียบเสมือนโซ่ข้อสุดท้ายที่เชื่อมต่อกทม.กับประชาชนอีกด้วย