In Bangkok

กทม.ยกระดับมาตรการแก้ปัญหาPM2.5 หนุนลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น



 กรุงเทพฯ-สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ยกระดับมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการปฏิบัติการเชิงรุกรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นว่า กรุงเทพมหานคร โดย สสล.ได้ยกระดับความเข้มข้นแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยบูรณาการความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดมลพิษจากยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการประเภทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งในสภาวะปกติและช่วงวิกฤต เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันได้ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขยายพื้นที่ตรวจวัดรถควันดำเป็น 20 จุด กระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งตรวจสอบและให้คำแนะนำเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ อาทิ กิจการแพลนท์ปูน กิจการพ่นสี กิจการหลอมโลหะ กิจการที่มีหม้อไอน้ำเชื้อเพลิงดีเซล เป็นต้น โดยลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างน้อยแห่งละ 2 ครั้ง/เดือน ในช่วงเดือน ต.ค.65 - มี.ค.66 เพื่อควบคุมการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด ป้องกันและลดการเกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะโรงงานและสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกทั้งประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดปริมณฑลควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดและสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง อาทิ การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษ งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ขับช่วยดับเครื่องยนต์ เป็นต้น โดยประชาชนสามารถมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการแจ้งเบาะแสแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป

นอกจากนั้น ยังเน้นย้ำข้อควรปฏิบัติและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งสร้างเสริมการรับรู้และการเข้าถึงข้อมูลสำหรับเด็กนักเรียนผ่านกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัด กทม.ทั้ง 437 แห่ง และแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ พร้อมรายงานข้อมูลและให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.bangkokairquality.comwww.pr-bangkok.com เฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และแอปพลิเคชัน: AirBKK รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ และจอแสดงผลอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ