In Bangkok
กทม.เตรียมพร้อมมาตรการเชิงรุกเร่งให้ บริการวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ

กรุงเทพฯ-นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุขณะนี้เริ่มมีรายงานพบผู้ป่วยโรคโปลิโอเพิ่มขึ้นในหลายประเทศว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้ประสานความร่วมมือกับ สธ.อย่างใกล้ชิดในการติดตามข้อมูลและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโปลิโอ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีมาตรการเชิงรุกเร่งรัดความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (วัคซีน OPV และ IPV) ในกลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์กระตุ้นการฉีดวัคซีนในเด็ก เพื่อเน้นย้ำและสร้างความตระหนักให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนพื้นฐานให้ครบถ้วน เนื่องจากในช่วงปี 2564 - 2565 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้การฉีดวัคซีนต่ำลง อย่างไรก็ตาม สนอ.ได้กำชับบุคลากรทางการแพทย์ให้เฝ้าระวังผู้ป่วยอาการกล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน (AFP Surveillance) โดยรายงานผู้ป่วย AFP เก็บตัวอย่างอุจจาระ ติดตามผู้ป่วยเมื่อครบ 60 วัน และรายงาน Zero report อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) เพื่อเพิ่มกำหนดการให้วัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดฉีด (IPV) จำนวน 2 ครั้ง/คน นอกจากนั้น ยังมีแผนการเตรียมความพร้อมแนวทางปฏิบัติของสถานพยาบาลกรณีพบผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยและมีประวัติเดินทางจากประเทศเสี่ยง เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.และรายงานเข้าระบบการเฝ้าระวังทันที ตามแนวทางที่ สธ.กำหนด
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า โรคโปลิโอเกิดจากเชื้อไวรัสที่เข้าไปทำลายระบบประสาท ส่งผลให้เกิดภาวะอัมพาต พิการ หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตในที่สุด โดยอาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอแตกต่างกันมาก และกว่าร้อยละ 90 ไม่แสดงอาการใด ๆ อีกทั้งโปลิโอไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ดังนั้น การรับวัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยปัจจุบันมีวัคซีนพื้นฐานที่ สธ.กำหนดให้เด็กทุกคนควรได้รับ 4 ชนิด คือ วัคซีนโปลิโอ วัคซีนคอตีบ วัคซีนไอกรน และวัคซีนบาดทะยัก โดยวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกิน (Oral polio vaccine: OPV) ซึ่งเป็น live attenuated vaccine และวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (Inactivated Poliomyelitis Vaccine (IPV) ซึ่งเป็น inactivated virus vaccine ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำแนวทางการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอแก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานการให้บริการอย่างปลอดภัย พร้อมทั้งแจ้งศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ในการดูแลของ กทม.ให้ติดตามเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนล่าช้ามารับวัคซีนอย่างเร่งด่วน เพื่อยกระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนให้สูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค
นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์แจ้งผู้ปกครองให้พาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามกำหนด หากเลื่อนการฉีดวัคซีนในอายุที่ควรได้รับอาจเพิ่มโอกาสการติดเชื้อในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งอาจทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ตลอดจนเตรียมมาตรการเฝ้าระวังและจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมถึงภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด กทม.เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค และจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย พร้อมจัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรค ได้แก่ โรคโปลิโอ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง