In Bangkok

ผู้แทนเครือข่ายอากาศสะอาดพบ'ชัชชาติ' หารือแนวทางจัดการอากาศอย่างยั่งยืน



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯชัชชาติ ร่วมประชุมกับผู้แทนเครือข่ายอากาศสะอาด เข้าพบผู้ว่าฯ ชัชชาติ หารือแนวทางความร่วมมือการจัดการอากาศสะอาดอย่างยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร

(28 ธ.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับผู้แทนเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย หรือ Thailand Clean Air Network (Thailand CAN) หารือเกี่ยวกับการจัดการอากาศสะอาดอย่างยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต ณ ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

ผู้แทนเครือข่ายฯ ได้แนะนำความเป็นมาของเครือข่ายฯ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการ นักขับเคลื่อนทางสังคม และภาคประชาสังคมจากหลากหลายภาคส่วนที่มีจิตอาสาและความตั้งใจในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ พร้อมนำเสนอภาพรวมของขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่ออากาศสะอาดในประเทศไทย ข้อมูลทางวิชาการและข้อเสนอแนะทางออกด้านต่าง ๆ (Solutions) ของการทำให้ได้มาซึ่งอากาศสะอาดที่เครือข่ายฯ ได้จัดทำ 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ของกรุงเทพมหานคร ว่า  กรุงเทพมหานครมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ฝุ่นละออง PM2.5 ครอบคลุมทั้ง 50 เขต รวม 70 จุด เราพยายามสร้างเครือข่ายให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม โดยจะเพิ่มการตรวจวัดข้อมูล PM2.5 นำเซ็นเซอร์ติดรอบแหล่งมลพิษ อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมัน ท่าเรือ เพื่อสร้างการตระหนักรู้และตื่นตัว เป็นแรงกดดันนำไปสู่การลดการปล่อยมลพิษ 

"เราได้มีการนำ Traffy Fondue เข้ามาใช้ ให้ประชาชนแจ้งเหตุฝุ่น เช่น โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยควัน รถประจำทางควันดำ เพื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามตรวจสอบและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเตรียมสร้างห้องปลอดภัยปลอดฝุ่นตามโรงเรียน โรงพยาบาล หรือพื้นที่ที่มีกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโดยการควบคุมที่แหล่งกำเนิด (ต้นทาง) และการดูแลป้องกันประชาชน 

ปัจจุบันมีมาตรการตามแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 1. มาตรการการกำจัดต้นตอหรือควบคุมที่แหล่งกำเนิด (ต้นทาง) อาทิ การตรวจสถานประกอบกิจการ/โรงงานอุตสาหกรรม แพลนท์ปูน/โรงงานผลิตปูน/ไซต์หรือสถานที่ก่อสร้าง การตรวจวัดรถควันดำ การตรวจสอบตรวจจับรถบรรทุก/รถโดยสารขนาดใหญ่ ที่อู่หรือท่าปล่อยรถต่าง ๆ อาทิ รถโดยสารประจำทาง รถสองแถว รถบรรทุก บริษัทขนส่ง บริษัทรถบรรทุก สถานีขนส่ง การควบคุมการเผา มอนิเตอร์จุด Hot Spot และลงพื้นที่ทันที่ที่ตรวจพบ โดยตั้งเป้าหมายในลดการเผาตอซังข้าวและเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เกษตร การทำ Open Data การสนับสนุนรถ EV และการใช้กล้อง CCTV ติดตามรถที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้

2. มาตรการติดตามและเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 ได้แก่ การวิจัยหาต้นเหตุฝุ่น/นักสืบฝุ่น แอปพลิเคชัน Traffy Fondue การพยากรณ์แจ้งเตือนฝุ่น การขยายระบบติดตามฝุ่น PM2.5 และศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ

3. มาตรการดูแลป้องกันสุขภาพประชาชน ได้แก่ ธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ป้ายแสดงผลในพื้นที่สำนักงานเขตและในชุมชน พัฒนาพื้นที่ปลอดภัย (BKK Clean Air Area) ให้กับโรงเรียนสังกัดกทม./ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกทม./ชมรมผู้สูงอายุ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น การจัดทำพื้นที่สีเขียว กรุงเทพ 15 นาที การทำเส้นทางสวนสวย เป็นต้น และล้างถนน ดูดฝุ่นถนน ล้างต้นไม้ใบไม้

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ คลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงที่ไวต่อการเกิดอาการจากมลพิษทางอากาศ ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว และให้คำแนะนำประชาชนในการ

ปฏิบัติตน ป้องกันการเกิดอาการของผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง พร้อมเฝ้าระวังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศและติดตามสุขภาวะในระยะยาว
อนึ่ง ประขาชนสามารถติดตามตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน เพื่อวางแผนการทำงาน การทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ที่ เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com เฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร / สำนักสิ่งแวดล้อม

กรุงเทพมหานคร / กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม หรือแอปพลิเคชัน AirBKK  และสามารถแจ้งเบาแสแหล่งกำเนิดมลพิษได้ที่ Traffy Fondue
ในวันนี้ มี ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมของเครือข่ายฯ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานประชาสัมพันธ์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม