In Global

บทวิเคราะห์:RCEPสร้างผลงานโดดเด่น หลังมีผลบังคับใช้ครบหนึ่งปี 



วันที่ 1 มกราคม ปี 2023 เป็นวาระครบรอบ 1 ปีที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมไม่สดใส  RCEP ประสบผลสำเร็จอย่างโดดเด่น ประโยชน์จากการดำเนินนโยบายได้รับการปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง จนได้กลายเป็นไฮไลท์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก

ปัจจุบัน RCEP มีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 30% ของทั่วโลกทั้งในแง่จำนวนประชากร ขนาดเศรษฐกิจ และมูลค่าการค้า  RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการกับ 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2022  มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการกับเกาหลีใต้ มาเลเซีย และเมียนมาร์ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์  วันที่ 18 มีนาคม และวันที่ 1 พฤษภาคมในปีเดียวกันตามลำดับ  หลังจากมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการกับอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 2 มกราคม ปี 2023 ที่ผ่านมา  RCEP มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการกับ 14 ประเทศภาคีสมาชิกแล้วจากทั้งหมด 15 สมาชิก 

สาระสำคัญที่สุดของ RCEP คือการลดหรือยกเว้นภาษี โดยมากกว่า 90% ของการค้าสินค้าในภูมิภาคจะค่อยๆ บรรลุ“ภาษีเป็นศูนย์” ทั้งนี้ได้นำผลประโยชน์มากมายมาสู่ประเทศสมาชิกทั้งหลาย ยกตัวอย่างประเทศจีน ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน ปี 2022 ยอดการนำเข้าและส่งออกระหว่างจีนกับสมาชิก RCEP อื่น ๆ อยู่ที่ 11.8 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2021 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตทางการค้าระหว่างจีนกับสหภาพยุโรปและสหรัฐฯในช่วงเวลาเดียวกันอย่างเด่นชัด ครองสัดส่วนถึง 30.7% ในยอดการนำเข้าและส่งออกระหว่างจีนกับต่างประเทศ ในจำนวนนี้ ยอดการส่งออกของจีนไปยังสมาชิก RCEP อื่นๆ อยู่ที่ 6.0 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 17.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2021 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกโดยรวมทั่วประเทศ 5.8 จุด 

RCEP ได้นำมาซึ่งแรงหนุนจากการลดต้นทุนการนำเข้าและการเพิ่มโอกาสในการส่งออก  "ขบวนรถไฟขนส่งผลไม้โดยเฉพาะ" ที่บรรทุกสินค้าเกษตรจากประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น ลาวและไทย  ได้แล่นไปยังตลาดอันกว้างใหญ่ไพศาลของจีนตามเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2022 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนเพิ่มขึ้น 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2021 คิดเป็น 15.4% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศของจีน อาเซียนสามารถรักษาสถานะที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนได้ต่อไปอย่างมั่นคง ผู้เชี่ยวชาญจีนชี้ว่า นับตั้งแต่ RCEP มีผลบังคับใช้เป็นต้นมา จีนกับอาเซียนได้บรรลุการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าในระดับที่สูงยิ่งขึ้นบนพื้นฐานของเขตการค้าเสรีเดิม การไปมาหาสู่กันทางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายได้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ได้ขยายบทบาทอย่างเข้มแข็งต่อการสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น 

RCEP ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการค้าเท่านั้น หากยังส่งผลดีต่อการลงทุนอีกด้วย ในด้านการลงทุน RCEP ได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีการลงทุน และมาตรการคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ระดับการเปิดกว้างนั้นสูงกว่าข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีเดิมระหว่างประเทศสมาชิกอย่างเห็นได้ชัด

ผ่านเวที RCEP จีนกับญี่ปุ่น และญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ได้สร้างความสัมพันธ์ทางการค้าเสรีขึ้นเป็นครั้งแรก การเปิดกว้างระหว่างกันได้นำมาซึ่งผลประโยชน์มากเป็นพิเศษ ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน ปี 2022 การลงทุนที่แท้จริงของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในจีนเพิ่มขึ้น 122.1% และ 26.6% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2021 

นักวิเคราะห์เห็นว่า ขณะที่หลายปัจจัยที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ เช่น โรคระบาดและวิกฤตยูเครน ได้สร้างความวุ่นวายให้กับโครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงเศรษฐกิจและการค้าโลกโดยรวมตกอยู่ในภาวะซบเซานั้น  RCEP ได้เสริมเสถียรภาพและความแน่นอนที่หายากให้กับเศรษฐกิจระดับภูมิภาคกระทั่งทั่วโลก และเป็นพลังที่มีประสิทธิภาพในการทำให้ความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากลัทธิฝ่ายเดียวและลัทธิกีดกันทางการค้าลดน้อยลง

เราสามารถคาดหวังอย่างมีเหตุผลได้ว่า ควบคู่ไปกับการยกระดับขีดความสามารถของประเทศสมาชิกในการใช้ประโยชน์จาก RCEP กำลังวังชาและพลังชีวิตของ RCEP ย่อมจะทวีความโดดเด่นยิ่งขึ้น และอัดฉีดแรงผลักดันการเติบโตใหม่เข้าสู่เศรษฐกิจภูมิภาคและทั่วโลกอย่างแน่นอน
---------------------------------------
เขียนโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)