In News

นายกฯ เปิดข้าวรักษ์โลก BCG Model ต่อยอดความสำเร็จชาวนามีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น



กรุงเทพฯ-นายกฯ เปิดกิจกรรม ข้าวรักษ์โลก BCG Model (นาปรัง) จ.สิงห์บุรี ต่อยอดความสำเร็จตามนโยบายรัฐบาลส่งเสริมให้ชาวนาและเกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model (นาปรัง) ในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัดต่อไป

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (6 มกราคม 2566) เวลา 10.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดกิจกรรม ข้าวรักษ์โลก BCG Model (นาปรัง) ณ บริเวณพื้นที่นานำร่อง หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำตาล อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากโครงการข้าวรักษ์โลกต้นแบบ ระยะที่ 1 ภายใต้เศรษฐกิจ BCG Model เกษตรมูลค่าสูง ในพื้นที่ 20 กองทุนหมู่บ้านของ 7 จังหวัด (จ.เชียงราย จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์) ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ และประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยด้วยดี โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี นายจารึก กมลอินทร์ ประธานคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนแห่งประเทศไทย นายภณ ทัพพินท์กร นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมต่าง ๆ ภาคีเครือข่าย และประชาชน เข้าร่วมด้วย

โดยเมื่อเดินทางถึงพื้นที่แปลงนา นายกรัฐมนตรีได้ขับรถดำนาปลูกข้าวร่วมกับชาวนาและปล่อยปลานิลร่วมกับเกษตรกร พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการดำเนินโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model ที่เกษตรกรและหน่วยงานเกี่ยวข้องนำมาจัดแสดงไว้ เช่น กระบวนการผลิตข้าวและการทำนารูปแบบ BCG การวางแผน การตรวจสอบ และประโยชน์ การสาธิตเทคโนโลยีทางการเกษตร เป็นต้น

จากนั้น นางออมสิน กุลรัตน์ เกษตรกรเจ้าของแปลงนา รองประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลน้ำตาล กล่าวแสดงความดีใจที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาพบกับประชาชนจังหวัดสิงห์บุรีและตรวจเยี่ยมโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model (สิงห์บุรีโมเดล) พร้อมขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกรชาวนาสิงห์บุรีภายใต้แนวคิดการผลิตข้าวแนวใหม่ของชาวนาไทยกับโครงการข้าวรักษ์โลก ซึ่งชาวนาและเกษตรชาวจังหวัดสิงห์บุรีพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลและโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน สามารถผลิตข้าวคุณภาพดี ปลอดภัยทั้งต่อตนเอง ต่อผู้บริโภค และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ข้าวเป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคา มีตลาดรองรับ ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพของชาวนาไทยได้ในระยะยาว ก้าวไปสู่ความสำเร็จ ดั่งชาวนายุคใหม่ ปลอดภัย รักษ์โลก 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาเป็นประธานเปิดกิจกรรม โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model (นาปรัง) ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีในวันนี้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการริเริ่มดำเนินโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model (นาปรัง) แล้ว โดยจะมีการนำร่องผลิตข้าวนาปรัง หรือข้าวที่เพาะปลูกในฤดูแล้งหรือนอกฤดูฝนในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด (จ.เชียงราย จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.นครสวรรค์ จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และ จ.สงขลา) เพื่อส่งเสริมให้ชาวนาและเกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาข้าวไทยให้เป็นสินค้านำรายได้เข้าประเทศ เพื่อนำกลับมาพัฒนาเกษตรกรไทย อย่างมั่นคง และยั่งยืน ทั้งนี้ ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความรักความสามัคคีของทุกคน โดยจังหวัดสิงห์บุรีเป็นจังหวัดที่มีเสน่ห์และมีของดีของเด่นมากมาย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรสร้างชื่อ เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศอย่าง “ปลาช่อนจากลำน้ำแม่ลา” แพะเนื้อ และข้าวคุณภาพสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งข้าวปทุมธานี 1 ข้าว กข 41 และข้าว กข 47 พร้อมย้ำถึงการทำการเกษตรและผลิตข้าวให้มุ่งเน้นไปสู่การผลิตข้าวคุณภาพสูง ลดการใช้สารเคมีหันมาใช้ปุ๋ยจุรินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพแทน สามารถลดต้นทุนการผลิตและลดการนำเข้าและซื้อปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ เพื่อทำเกษตรอย่างปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สร้างอาชีพ รายได้ให้กับประชาชนอย่างมั่นคง และประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก โดยยึดหลักประชาชน “อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง” รวมไปถึงแนะนำให้กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเกษตรกรศึกษาและหาแนวทางในการ “ทำนาเปียกสลับแห้ง” ซึ่งเหมาะสำหรับสถานการณ์ภัยแล้งและในภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายจังหวัด สามารถบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เพียงพอต่อความต้องการของต้นข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกษตรกรยังสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ รวมทั้งให้มีการรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ให้มากขึ้น และร่วมกันขับเคลื่อน BCG Model ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ประกาศไว้ โดยมุ่งการพัฒนาและการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของทั่วโลก พร้อมแนะนำให้ใช้สื่อโชเซียลหรือยูทูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเรียนรู้และศึกษาด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านการทำเกษตรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงโลกและเทคโนโลยี 

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการเดินทางมาจังหวัดสิงห์บุรีครั้งนี้ว่า เพื่อมาขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ เช่น ไปตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนน้ำตาล ระยะที่ 2 ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตำบลน้ำตาล ซึ่งได้เห็นความก้าวหน้าโดยลำดับและได้กำชับให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้โดยเร็ว เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนน้ำตาล นอกจากนี้ ยังตั้งใจมาขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model (นาปรัง) ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งโครงการข้าวรักษ์โลก ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 7 จังหวัดในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และประสบผลสำเร็จ สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนาในโครงการ ฯ อีกทั้งโครงการข้าวรักษ์โลก ยังเป็นต้นแบบการปฏิวัติการทำนาอย่างยั่งยืน ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางไว้ จากแนวคิดการผลิตข้าวยุคใหม่ด้วยการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้เพื่อการผลิตและลดการใช้สารเคมี สามารถช่วยลดต้นทุนได้จริง ข้าวที่ได้มีคุณภาพสูง สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น ทำให้ชาวนาในโครงการ ฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ข้าวรักษ์โลกเป็นข้าวที่ตรงตามความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นข้าวที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์กระแสผู้บริโภคในโลกยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ เมื่อประชาชนมีอาชีพมั่นคงและรายได้เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ประชาชนมีความสามารถที่จะจ่ายภาษีได้เพื่อรัฐจะได้เก็บเป็นรายได้นำกลับมาพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ต่อไปซึ่งเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมของประเทศ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน เกษตรกร ที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ประสบผลสำเร็จอย่างดี โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model จะเป็นต้นแบบในการขยายผลความสำเร็จสู่สินค้าเกษตรอื่น ๆ เพื่อให้ภาคเกษตรของไทยมีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคง สามารถผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านอาหารและสินค้าเกษตรคุณภาพสูงในเวทีโลกได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก เพื่อให้ภาคเกษตรกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับตัวแทนเกษตรกร สำหรับเมนูอาหาร อาทิ ส้มตำ ไก่ย่าง ข้าวเหนียว กุนเชียงทอด ไข่พะโล้ ไก่ทอด ปลาทอด ไอศครีม ครองแครง แกงหน่อไม้ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร