In Bangkok
กทม.เผยความคืบหน้าการพัฒนาแหล่งน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย/ติดตั้งบ่อดักไขมัน

กรุงเทพฯ-สำนักการระบายน้ำ กทม.เดินหน้าดูแลพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน ติดตั้งบ่อดักไขมันบ้านเรือนริมคลองแสนแสบ
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแหล่งน้ำและปรับปรุงภูมิทัศน์คลองในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต ได้ดำเนินการตามแผนการรักษาความสะอาดคู คลอง แหล่งน้ำ และแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นประจำทุกปี จากสถิติจำนวนปริมาณขยะและวัชพืชในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563 - 2565 ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2563 ที่มีจำนวนขยะและวัชพืชทั้งหมด 568,023 ตัน เฉลี่ย 47,335 ตัน/เดือน เฉลี่ย 1,578 ตัน/วัน ในปี 2564 มีจำนวนขยะและวัชพืชทั้งหมด 499,445 ตัน เฉลี่ย 41,620 ตัน/เดือน เฉลี่ย 1,387 ตัน/วัน และในปี 2565 มีจำนวนขยะและวัชพืชทั้งหมด 354,426 ตัน เฉลี่ย 29,536 ตัน/เดือน เฉลี่ย 985 ตัน/วัน ส่วนการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จะดำเนินการที่ชุมชนในแฟลต 1 - 10 ริมคลองหัวลำโพง ชุมชนในอาคารสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร 5 แห่ง บริเวณพื้นที่อาคารสงเคราะห์ บึงกุ่ม ประเวศ อ่อนนุช รามอินทรา 39 และลาดพร้าว 71 และติดตั้งถังดักไขมันที่บ้านเรือนบริเวณชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา ปัจจุบันสามารถติดตั้งได้แล้ว 3,252 ถัง จาก 17,225 ถัง
นอกจากนั้น สนน.ยังได้รณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน รักษาและพัฒนาแหล่งน้ำ รวมทั้งการปลูกจิตสำนึกประชาชนดูแลแหล่งน้ำ และการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาบริเวณพื้นที่โดยรอบคลองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยคัดเลือกคลองที่มีศักยภาพมาพัฒนาต่อยอดเชิงพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวคลอง สร้างจุดเช็กอิน จุดชมวิวทิวทัศน์ และกำหนดย่านในการพัฒนา เช่น ย่านวังเดิม ย่านวัดกำแพง ย่านตลาดพลู เป็นต้น และรวบรวมข้อมูลจัดทำแผนพัฒนาต่อเนื่องในระยะต่อไป ส่วนในพื้นที่ต่าง ๆ สำนักงานเขตได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาผักตบชวาระดับเขต และปลัดกรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งชมรมคนริมน้ำครอบคลุมทุกแหล่งน้ำในพื้นที่เขตทั้ง 50 เขต โดยมีชมรมคนริมน้ำ 271 ชุมชน มีหน้าที่ในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ดูแลรักษาแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำให้สะอาด ปราศจากผักตบชวา ขยะและวัชพืช โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน เน้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก