In News
เอ็มเอสเอ็มอีชี้สถานการณ์ธุรกิจSMEs ปี65(9ด.)โต5.1%และไตรมาส3โต17.6%
กรุงเทพฯ-ครม. รับทราบ รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ปี64 GDP 5.6 ล้านล้านบาท, ปี65 (9เดือนแรก) ขยายตัว 5.1% ไตรมาส3/65 ขยายตัวมากที่สุด 17.6% จากการบริโภคและการจ้างงานฟื้นตัวต่อเนื่อง การท่องเที่ยวที่เติบโต ด้านการค้าระหว่างประเทศขยายตัวดี
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 มกราคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. รับทราบรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-sized Enterprises: MSME) ปี 2565 ซึ่งเป็นการสรุปสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2564 และสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของปี 2565 ช่วง 9 เดือนแรก (เดือน ม.ค.-ก.ย. 2565)
สถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2564 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ปี 2564 สร้างมูลค่า GDP ถึง 5,603,443 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.6 ของ GDP รวมทั้งประเทศ โดยขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 3 เนื่องจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศ รวมถึงประชาชนมีการใช้จ่ายและการเดินทางเพิ่มมากขึ้น และธุรกิจส่วนใหญ่สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ MSME มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 42.4 โดยที่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 มีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมและมีการเปิดประเทศ รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” ทำให้ความเชื่อมั่นในทุกภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มมากขึ้น
2. ด้านการค้าระหว่างประเทศทั้งด้านการส่งออกและด้านการนำเข้าขยายตัวจากปี 2563 โดยด้านการส่งออกมีมูลค่า 32,454 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 11.9 ต่อการส่งออกรวม ขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 19.9 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น สินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ และผลไม้สด สำหรับด้านการนำเข้ามีมูลค่า 35,536 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.3 ต่อการนำเข้ารวม ขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 9.7 โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เม็ดพลาสติก ทองแดง เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล
3. วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวนรวม 3,178,124 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.6 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ ขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 1.4 ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในภาคการค้าถึงร้อยละ 41 โดยมีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ 72,802 ราย และสถานการณ์ด้านการจ้างงานรวม 12,601,726 คน คิดเป็นร้อยละ 71.9 ของจำนวนการจ้างงานทั้งหมด โดยใกล้เคียงกับปี 2563 ซึ่งลดลงเล็กน้อยในระดับ ร้อยละ 0.9 โดยอยู่ในกลุ่มภาคบริการมากที่สุด
สถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไตรมาสที่ 3 และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 สร้างมูลค่า GDP ขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยไตรมาสที่ 3 GDP มีมูลค่า 1,542,710 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 อันเป็นผลมาจากการบริโภคและการจ้างงานที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโต และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ MSME ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50.9 เพิ่มขึ้นจากค่าฐานที่ระดับ 50 เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัว รวมทั้งความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
2. สำหรับการค้าระหว่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ด้านการส่งออกมีมูลค่า 28,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 22.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 13 ต่อมูลค่าการส่งออกรวม โดยไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 มีมูลค่า 9,662.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 สินค้าส่งออกสำคัญของ MSME ที่ขยายตัวได้ดีคือ กลุ่ม
สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป โดยขยายตัวถึงร้อยละ 56.2 ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 30,165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.7 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.8 ต่อมูลค่าการนำเข้ารวม
3. วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 มีการจ้างงานเฉลี่ย 3,984,754 คน ขยายตัวร้อยละ 4.3 ของจำนวนการจ้างงานทั้งหมดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว ขณะที่กำลังซื้อยังขยายตัวได้ดี รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
“สำหรับการประมาณการเศรษฐกิจของ MSME ปี 2565 (ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประเมินว่า ปี 2565 GDP จะขยายตัวร้อยละ 4.9 โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น เช่น การบริโภคภาคเอกชน การจ้างงาน การส่งออกสินค้า และภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตได้สูงกว่าที่คาดไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง” น.ส.ทิพานัน กล่าว