In News
ผลคัดเลือกผู้ลงทุนพัฒนาท่าเรือสงขลา รัฐฯอนุมัติ3,18พันล.ให้'เจ้าท่า'เดินหน้า
กรุงเทพฯ-ครม. เห็นชอบผลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา พร้อมอนุมัติ 3,184.57 ล้านบาท ให้กรมเจ้าท่า ขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำสงขลา เพิ่มศักยภาพ รองรับการขยายตัวปริมาณสินค้านำเข้าและส่งออกในภาคใต้
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี ( 10 มกราคม 2566) คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน สำหรับโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา ในรูปแบบการร่วมลงทุนภาครัฐ-เอกชน (PPP) ภายใต้ พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และเห็นชอบวงเงินงบประมาณ 3,184.57 ล้านบาท ให้แก่กรมเจ้าท่า ในการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำสงขลาให้อยู่ที่ระดับ 9 เมตรตลอดระยะเวลาของโครงการ 25 ปี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพท่าเรือสงขลาให้สามารถแข่งขันกับท่าเรือปีนัง มาเลเซีย ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้า นำเข้าและส่งออกในภาคใต้
สำหรับแนวทางในการปรับปรุงท่าเรือสงขลา เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหน้าท่าและติดตั้งเครนหน้าท่าเรือ การปรับปรุงลานตู้สินค้าและเพิ่มเติม เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะสนับสนุนการขนถ่ายสินค้าด้วยเครนขนาดใหญ่ เป็นต้น โดย บจก. เจ้าพระยาท่าเรือสากล ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด ซึ่งสูงกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ ครม. เคยให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการฯ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2554 ทำให้รัฐได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิมกว่าร้อยละ 34.44
ทั้งนี้ ฝ่ายเอกชนจะมีหน้าที่ เช่น ออกแบบ พัฒนา ปรับปรุง และบริหารท่าเรือสงขลา ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา งบลงทุนทั้งสิ้น จำนวน 2,387.90 ล้านบาท โดยสัญญามีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจนครบ กำหนดระยะเวลา 25 ปี หรือจนกว่าสัญญาฉบับนี้สิ้นสุดลงโดยไม่สามารถขยายหรือต่ออายุของสัญญาฉบับนี้ได้ ซึ่งสิ่งปลูกสร้างของโครงการ ฯ จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายรัฐทันที เมื่อการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างของโครงการแล้วเสร็จ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ยังส่งผลให้ท่าเรือสงขลาจะสามารถรองรับขนาดเรือที่เข้ามาใช้บริการท่าเรือน้ำลึกสงขลาได้มากขึ้น รวมทั้งรองรับจำนวนตู้คอนเทนเนอร์และน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการขนย้ายสินค้าส่งออก เนื่องจากสามารถบรรทุกสินค้าส่งออกทางเรือไปยังประเทศปลายทางได้โดยตรง ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางทะเล เพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างในการขนถ่ายสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เพิ่มธุรกิจการนำเข้า-การส่งออก ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและท้องถิ่นด้วย