In News
นายกฯถกบอร์ดบีโอไอสรุปลงทุนปี2565 กว่า6.6แสนล.ย้ำไทยเป็นฐานผลิต'รถอีวี'
กรุงเทพฯ-นายกฯ ประชุมบอร์ดบีโอไอ พอใจการส่งเสริมการลงทุนไทย ยอดลงทุนปี 65 พุ่งกว่า 6.6 แสนล้าน ยานยนต์ไฟฟ้า-ดิจิทัลปักหมุด ย้ำไทยฐานลงทุนในภูมิภาค ขณะที่ยอดขอส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ขยายตัวร้อยละ 36
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เมื่อ13 ม.ค.66ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมด้วย สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าได้ติดตามสถานการณ์การลงทุนที่ผ่านมามีความก้าวหน้าโดยลำดับและเป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งเรื่องการลงทุนต่าง ๆ สถิติสูงก็ขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยขอย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเผยแพร่และสร้างความเข้าใจถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันดำเนินการจนเกิดความก้าวหน้าและดีขึ้น ให้สังคมและประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนจนเกิดผลเป็นรูปธรรม เดินหน้ามาถึงปัจจุบันและพัฒนาต่อไป อย่างไรก็ตามต้องมีการเตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวให้ความสำคัญกับแผนบริหารจัดหาพลังงานของประเทศให้เพียงพอและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นในเรื่องของพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อไปสู่เป้าหมายตามที่ประกาศไว้ในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26 และ COP27) รวมไปถึงเพื่อสามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น และนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการเตรียมการต่าง ๆ และการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับกฎ กติกา Global Minimum Tax ของ OECD โดย BOI และกระทรวงการคลัง เร่งศึกษาแนวทางการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจาก OECD Pillar 2 เพื่อให้การออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้
ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมรับทราบและติดตามภาวะการลงทุนในปี 2565 ที่ผ่านมาพบว่ามีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีเงินลงทุน 664,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 นับว่าเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด นอกจากนี้ การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นที่ใกล้จะลงทุนจริงมากที่สุด ก็มีแนวโน้มที่ดี ในปี 2565 มีโครงการที่ออกบัตรส่งเสริม ทั้งสิ้น 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมีมูลค่าเงินลงทุน 489,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เป็นสัญญาณที่ดีว่า ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนจริงที่มากยิ่งขึ้น
สำหรับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีเงินลงทุน 468,668 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 71 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่า 129,475 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีมูลค่า 105,371 ล้านบาท อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มีมูลค่า 81,731 ล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มีมูลค่า 59,762 ล้านบาท และอุตสาหกรรมดิจิทัล มีมูลค่า 49,458 ล้านบาท ตามลำดับ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว ธุรกิจที่มีเงินลงทุนสูง ได้แก่ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน กิจการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม กิจการขนส่งและโลจิสติกส์
โดยในปี 2565 มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในหลายกิจการ เช่น กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV, PHEV และ Hybrid มูลค่ารวมกว่า 53,000 ล้านบาท (ผู้ลงทุนรายสำคัญ เช่น บีวายดี และฮอริษอน พลัส) กิจการ Data Center มูลค่ารวมกว่า 42,000 ล้านบาท (ผู้ลงทุนรายสำคัญ เช่น อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS)) และกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. มูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท
ขณะที่ยอดขอลงทุนใน EEC เพิ่มเกือบเท่าตัว การลงทุนใน EEC ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญ มีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด โดยมีการขอการรับส่งเสริมจำนวน 637 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 358,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 84 โดยมูลค่าเงินลงทุนกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า กิจการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า เป็นต้น
ในส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่า 433,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยจีน มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 77,381 ล้านบาท รองลงมาเป็นญี่ปุ่น มูลค่า 50,767 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 50,296 ล้านบาท ไต้หวัน 45,215 ล้านบาท และสิงคโปร์ 44,286 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มการลงทุนปี 2566 ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและมีแนวโน้มชะลอตัว คาดว่าประเทศไทยจะสามารถรักษาระดับการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนล้านบาท เนื่องจากไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง ไม่อยู่ในความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า BCG พลังงานสะอาด การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น