In Bangkok

2เขตผนึกกำลัง'พระนครและสัมพันธวงศ์' ประชุมระดมความคิดบูมคลองโอ่งอ่าง



กรุงเทพฯ-“พื้นที่คลองโอ่งอ่าง เป็นสิ่งที่ท่านผู้ว่าฯ ชุดที่แล้ววางไว้ดีมาก ในวิกฤตโควิดที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นหลายอย่างที่ทำให้กิจการไม่ต่อเนื่อง ตอนนี้คำถามเดียวคือทำอย่างไรให้คลองโอ่งอ่างจัดการตัวเองได้ เป็นคลองโอ่งอ่างที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะมีโควิด ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้ว่าฯ กี่คน คลองโอ่งอ่างต้องอยู่ได้จริง อยู่ได้เอง สิ่งนี้น่าจะเป็นหัวใจหลัก” นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความคิด “ชุมชนร่วมคิด ร่วมสร้าง ย่านคลองโอ่งอ่าง” วันนี้ (15 ม.ค. 66) ณ ห้องประชุมโสตทัศนูปการ ชั้น 5 อาคาร 100 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ บพิตรพิมุข จักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ 

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อ ถึงมิติ 3 ด้านของคลองโอ่งอ่างกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ด้านที่ 1 คือ คลองโอ่งอ่างกับชุมชน ซึ่งคลองโอ่งอ่างนั้นเสมือนตะเข็บของเขตพระนครและเขตสัมพันธวงศ์ เป็นส่วนที่ประสานกันระหว่างชุมชนชาวจีนกับอินเดีย และยังมีผู้ค้าดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา สิ่งที่น่าจะนำมาคุยกันและชูประเด็นคือเรื่อง อัตลักษณ์ของชุมชน เช่น พาหุรัด ซึ่งยากมากที่จะหาชุมชนที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมแบบนี้ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนว่าจะทำอย่างไรให้เก่าและใหม่อยู่ด้วยกัน ต้องคงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ดั้งเดิมและพัฒนาไปข้างหน้าด้วย

ด้านที่ 2 คือ คลองโอ่งอ่างกับย่าน หากดูในแผนที่จะเห็นว่าคลองโอ่งอ่างต่อกับคลองบางลำภู มีชั้นในที่เป็นคลองคูเมืองเดิม และมีคลองชั้นนอกคือคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่อดีตมากทม. มีโครงการที่จะปรับปรุงทั้งคลองผดุงฯ และคลองคูเมืองเดิม ดังนั้นแผนการปรับปรุงคลองโอ่งอ่างมีความสำคัญในแง่การเชื่อมต่อระหว่าง 3 คลอง รวมถึงคลองหลอดด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องคลองแต่เป็นการเชื่อมต่อย่าน ทั้งสำเพ็ง เยาวราช พาหุรัด ไปถึงทรงวาด ตลาดน้อย ปากคลองตลาด ซึ่งหลายคนบอกว่าเดินต่อกันไปไม่ถึง ทั้งที่จริงระยะทางพอจะเดินต่อไปได้ เลยคิดว่าคลองโอ่งอ่างกับย่าน เราสามารถทำให้สอดคล้องต่อเนื่องกันได้

ด้านที่ 3 คือ คลองโอ่งอ่างกับเมือง การพัฒนาทุกย่านต้องมีโมเดลที่สำเร็จ ถ้าวันนี้ให้พูดถึงสักย่านหนึ่งที่พัฒนาสำเร็จ คลองโอ่งอ่างเป็นที่หนึ่งที่ทุกคนพูดถึงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ว่าเป็นย่านที่กทม.ลงเม็ดเงินจริงจัง ชาวบ้านออกมาค้าขาย ติดอันดับสถานที่ท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นคลองโอ่งอ่างกับเมือง คือโมเดลของการร่วมกันสร้างระหว่างชุมชน ย่าน และกทม.

การประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดฯ วันนี้ ยังมีการนำเสนอแนวคิดการดำเนินงานพัฒนาย่านคลองโอ่งอ่าง โดย นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร และนายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ รวมถึงนำเสนอแนวคิดการขับเคลื่อนย่านคลองโอ่งอ่างสู่ย่านสร้างสรรค์ โดย คุณจุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิกชุมชน กลุ่มปั้นเมือง และวาระสำคัญการประชุมคือการแบ่งกลุ่มย่อย อภิปรายหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ภาคประชาชน” โดยกลุ่มผู้แทนชุมชนคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ สะพานเหล็ก สะพานหัน และสัมพันธวงศ์ 1 และ 2 

โดยภายหลังการอภิปรายย่อย ทุกกลุ่มได้นำเสนอผลการอภิปรายทั้งในด้าน คุณค่า จุดเด่น ของย่านคลองโอ่งอ่าง และสิ่งที่ต้องได้รับการดำเนินการพัฒนาแก้ไขรวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ย่านคลองโอ่งอ่าง แก่ที่ประชุมใหญ่เพื่อสรุปผลและนำเข้าสู่แผนการดำเนินงานฟื้นฟูคลองโอ่งอ่างในลำดับต่อไป