In News
ก.อุตฯผนึกสจล.ฟื้นคืนซากแบตเตอรี่รถอีวี ปูทางการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่
กรุงเทพฯ-“สุริยะ” เปิดผลสำเร็จการพัฒนาเทคโนโลยีการนำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว กลับมาใช้เป็นแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และเครื่องสำรองไฟ (UPS) อายุการใช้งานเทียบเท่าแบตเตอรี่ใหม่ ปูทางการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่สู่ความยั่งยืน ตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ MIND ให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้นโยบาย BCG Model (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) และจากการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรการส่งเสริมของรัฐบาล รวมทั้งการผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เตรียมความพร้อมรองรับการจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีในจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วได้อย่างครบวงจรทั้งการ Reuse และ Recycle โดยเซลล์ (Cells) และโมดูล (Modules) ในแบตเตอรี่ฯ ที่ยังคงมีประสิทธิภาพสูง กพร. ได้ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พัฒนาเทคโนโลยีนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงาน (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และอาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งได้พัฒนาต้นแบบรถกอล์ฟไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) และเครื่องสำรองไฟ (UPS) ที่ใช้แบตเตอรี่จากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว ทั้งนี้ ผลการทดสอบคาดว่า แบตเตอรี่ดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 8 ปี หรือใกล้เคียงกับอายุการใช้แบตเตอรี่ใหม่ในรถยนต์ไฟฟ้าเดิม สำหรับแบตเตอรี่ฯ ที่ไม่สามารถนำมา Reuse กพร. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พัฒนาเทคโนโลยีในการ Recycle โดยสามารถแยกสกัดลิเทียมและโคบอลต์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ทางสหภาพยุโรป (EU) จัดเป็นวัตถุดิบประเภทที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก หรือ Critical Raw Materials (CRM) ออกมาใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งได้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนต้นแบบที่ใช้ลิเทียมที่ได้จากการ Recycle แบตเตอรี่ฯ เป็นวัตถุดิบตั้งต้น ในการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งผลงานดังกล่าวทั้ง 2 เทคโนโลยี นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกในไทย
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวภายหลัง การจัดงานเปิดผลสำเร็จฯ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ว่า กพร. ได้ส่งเสริม พัฒนา และถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง กพร. และ สจล. ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สามารถรักษาตำแหน่งการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และก้าวไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้ รวมทั้งเป็นคำตอบที่สำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต สร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business Model) ตลอดห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และก่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว ที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร เพื่อป้องกันปัญหาขยะและมลพิษจากแบตเตอรี่ในอนาคต ด้วยการหมุนเวียนวัสดุที่ใช้แล้วภายในประเทศอย่างครบวงจรและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนของรัฐบาล และสอดรับกับนโยบายปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรม ของ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งพัฒนา “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากผ่านนโยบาย 4 มิติ ส่งเสริมธุรกิจ ดูแลสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้สู่ชุมชน ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล กพร. อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โทรศัพท์ 0 2430 6842 ต่อ 4211