In News
ผ่านร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่2 พัฒนาเหมืองแร่ต่อยอดBCGทำเหมือง
กรุงเทพฯ-ครม.เห็นชอบร่าง แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 สร้างบัญชีทรัพยากรแร่ที่สมบูรณ์ เพื่อกำหนดนโยบาย-พัฒนาการกำกับดูแลการอนุมัติอนุญาตกิจกรรมเหมืองแร่ และต่อยอด BCG ในการทำเหมือง ใช้บังคับ 5 ปี
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 มกราคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์แร่ต่อจากแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 1 ที่สิ้นสุดในปี 2565 และมีเป้าหมายเพื่อสร้างบัญชีทรัพยากรแร่ที่สมบูรณ์เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบาย รวมทั้งเพื่อพัฒนากลไกการกำกับ ดูแล และอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากแร่ เช่น ระบบการอนุมัติอนุญาตกิจกรรมเหมืองแร่ ตลอดจนมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการแร่ของประเทศต่อประชาชน โดยใน (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 นี้มีการเพิ่มเติมรายละเอียด ต่อยอด ปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และมีบางส่วนเป็นการเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ เช่น การดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและ BCG ในการทำเหมือง การส่งเสริมการลงทุนสาหรับการสำรวจแหล่งแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การบูรณาการด้านการขนส่ง
ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 มีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี ตั้งแต่ ปี 2566-2570 มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาไว้ 4 ด้าน 10 เป้าประสงค์ 18 ตัวชี้วัด 29 กิจกรรมหลัก และมีหน่วยงานขับเคลื่อนประมาณ 35 หน่วยงาน มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
1. แนวทางการพัฒนาด้านที่ 1 : การพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแร่ ประกอบด้วย 3 เป้าประสงค์ 3 ตัวชี้วัด 10 กิจกรรมหลัก เช่น ไทยมีบัญชีทรัพยากรแร่ที่สมบูรณ์เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับการทำเหมืองให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีตัวชี้วัด คือ ร้อยละของพื้นที่ศักยภาพแร่เป้าหมายทั่วประเทศได้ถูกสำรวจ ภายใต้กิจกรรมหลัก คือ เพิ่มอัตราการสำรวจและจำแนกแหล่งแร่
2. แนวทางการพัฒนาด้านที่ 2 : การพัฒนากลไกการอนุญาต กำกับดูแล และการจัดสรรผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรแร่ ประกอบด้วย 2 เป้าประสงค์ 6 ตัวชี้วัด 9 กิจกรรมหลัก เช่น ทบทวน ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย กลไกการอนุญาต ระบบกำกับ ดูแล ติดตามเกี่ยวกับทรัพยากรแร่ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยมีตัวชี้วัด คือ จำนวนกลไกการอนุมัติ อนุญาต และการจัดสรรผลประโยชน์ ที่ได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้กิจกรรมหลัก คือ การพัฒนาระบบการยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ One Stop Service
3. แนวทางการพัฒนาด้านที่ 3 : การวิจัยพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากแร่ ประกอบด้วย 3 เป้าประสงค์ 6 ตัวชี้วัด 7 กิจกรรมหลัก เช่น สร้างและพัฒนานวัตกรรมที่ทันสมัยที่นำมาใช้ในการเพิ่ม มูลค่าแร่ และการนำของเสียหรือวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ โดยมีตัวชี้วัด คือ ร้อยละของของเสียในกระบวนการทำเหมืองหรือการผลิตแร่ของสถานประกอบการที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ภายใต้กิจกรรมหลัก คือ ส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่นำของเสียจากกระบวนการทาเหมืองกลับมาใช้ใหม่
4. แนวทางการพัฒนาด้านที่ 4 : การสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ประกอบด้วย 2 เป้าประสงค์ 3 ตัวชี้วัด 3 กิจกรรมหลัก เช่น สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ในกระบวนงานต่างๆ โดยมีตัวชี้วัด คือ ความสำเร็จของการสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการเหมืองเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน และการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ การก่อสร้าง การดำเนินกิจการ การฟื้นฟูพื้นที่หลังปิดเหมือง ภายใต้กิจกรรมหลัก คือ จัดทำแผนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินการเกี่ยวกับเหมือง
“ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทแร่ดังกล่าว และให้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ครม. ให้ความเห็นชอบเป็นต้นไป ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาบังคับใช้แผนแม่บทแร่ ฉบับที่ 1 จากสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 16 มกราคม 2566 และให้มีการติดตามประเมินผลโดยกำหนดเกณฑ์การประเมินระดับความก้าวหน้า ระดับความสำเร็จฯ และแบ่งระยะติดตามประเมินผลเป็น 2 ช่วง คือ หลังสิ้นสุดครึ่งแรกของแผนและหลังสิ้นสุดแผน” น.ส.ทิพานัน กล่าว