EDU Research & ESG
ปลุกพลังSoft Power'กระตั้วแทงเสือ' ย่านตลาดพลูโดย'วรรณี งามขจรกุลกิจ'
กระแสของ Soft Power ที่มีการแปลเป็นไทยว่าพลังอำนาจละมุน หรือบ้างใช้ว่า พลังอำนาจอ่อน เป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นและแพร่หลายไปในหลายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การเกิดกระแสของ Soft Power ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากเวทีการแสดงของแร็ปเปอร์สาวไทย “มิลลิ” ดนุภา คณาธีรกุล บนเวทีระดับโลกที่สหรัฐอเมริกาโดยการรับประทาน “ข้าวเหนียวมะม่วง” บนเวทีการแสดง ทำให้ “ข้าวเหนียวมะม่วงไทย” เป็นกระแสดังไปทั่วโลกในชั่วข้ามคืน หรือ การพูดถึงลูกชิ้นยืนกินบุรีรัมย์และมะม่วงน้ำปลาหวานของศิลปินวง Black Pink ลิซ่าและโรเซ่ สามารถสร้างความสนใจเป็นไวรัลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว
หากพิจารณาคุณประโยชน์ของ Soft Power ที่มีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับความเป็นแบรนด์ของประเทศ พบว่าบรรดาผู้รู้ด้าน Soft Power ล้วนยืนยันว่ามีคุณประโยชน์ยิ่งต่อประเทศ ประชาชน ธุรกิจและองค์กร แบรนด์ของประเทศที่แข็งแกร่งและสร้างการรับรู้ถึงพลังอำนาจละมุนในเชิงบวก ช่วยส่งเสริมให้ประเทศเป็นสถานที่ที่ผู้คนมาเยี่ยมชม ลงทุน และสร้างชื่อเสียงในด้านคุณภาพสินค้าและบริการ อีกทั้งยังได้รับการยอมรับนับถือจากประเทศเพื่อนบ้านและในเวทีระหว่างประเทศ (Steve Thomson, 2020)
ในส่วนของรัฐบาลก็มองเห็นความสำคัญของพลังอำนาจละมุนนี้จึงมอบนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังนี้เป็นเครื่องมือพัฒนาภาพลักษณ์ประเทศไทยในเวทีโลก โดยมอบหมายกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำแผนและมาตรการส่งเสริม Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรมตามแนวคิด “5F” ประกอบด้วยอาหาร (Food) แฟชั่น (Fashion) ภาพยนตร์ (Film) ศิลปะการต่อสู้/มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival) รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัฒนธรรมไทย ผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมไปสู่ตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชน
จากการกำหนดมาตรการในการสร้างและบริหารโอกาสของประเทศ โดยต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม สู่การพัฒนาอุตสาหกรรรมอารยธรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Civilization & Creative Industry) นั้น มีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้สนับสนุนชุดโครงการ “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่” ให้แก่สถาบันอุดมศึกษา จำนวน 27 โครงการ โดยใช้วัฒนธรรมที่สำคัญของพื้นที่และเข้าไปส่งเสริม สร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างการรับรู้ผ่านสื่อสร้างสรรค์และการตลาด เพื่อพัฒนาพื้นที่ย่านให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงแนวคิดการต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งโครงการวิจัย “ผู้คน, อาหาร, สถานที่: มรดกวัฒนธรรมย่านตลาดพลูที่ขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการดิจิทัล”เป็นส่วนหนึ่งที่ดำเนินงานวิจัยโดยการสัมภาษณ์และจัดบทสนทนาแบบมีส่วนร่วม (Participatory dialogue/focus group) เพื่อเก็บข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมทั้งแบบรายปัจเจกและกลุ่มเฉพาะ เพื่อให้ชุมชนช่วยเสนอไอเดียในการพัฒนาสินค้า บริการ และคุณค่า ในชุมชนตลาดพลู รวมถึงการแก้ปัญหาการล่มสลายของวัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะการแสดงอันเป็นตำนาน เล่าขานเรื่องราวของชุมชน ผู้คนในพื้นที่ย่านตลาดพลู ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการวิจัยคือสร้างการรับรู้คุณค่าของ ผู้คน อาหาร สถานที่ อันเป็นมรดกวัฒนธรรมย่านตลาดพลูในช่องทางการรับรู้สาธารณะ และการสร้างประสบการณ์การรับรู้ แบบใหม่ในย่าน โดยผ่านสื่อดิจิทัลแพลตฟอร์ม
จากข้อมูลสัมภาษณ์กลุ่มศิลปะการแสดงและกลุ่มอาหาร พบว่า ผู้นำกลุ่มและผู้ประกอบการมีความต้องการในการสืบทอดรักษาคุณค่าความเป็นต้นแบบที่เป็นตำนานของกลุ่มตนเอง และต้องการสร้างการรับรู้ในวงกว้างไม่จำกัดเฉพาะผู้คนในพื้นที่ย่านตลาดพลูเท่านั้น รวมทั้งการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และการขยายฐานของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมสืบสานคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของย่านอีกด้วย
ดังนั้น ผู้วิจัยดำเนินการถอดสาระสำคัญจากข้อมูลการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม นำมากำหนดเป็นโจทย์ความต้องการ (Brief) ย่านพื้นที่ตลาดพลูของกลุ่มศิลปะการแสดง กระตั้วแทงเสือ คณะศิษย์หลวงปู่ผาด วัดบางสะแกนอก
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์กล่าวกันว่าเดิมเรียกกันว่า กระอั้วแทงควาย เป็นการแสดงจากเมืองทวายที่จัดถวายในงานพระราชพิธีโสกันต์และงานมหรสพสมโภชในงานพระเมรุ เป็นการละเล่นของหลวงตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี จนถึงรัตนโกสินทร์ มีการเปลี่ยนเค้าโครงเรื่องเพื่อความสนุกสนานจากควายมาเป็นเสือ จากในรั้วในวังมาสู่สามัญชนจนเป็นการแสดงการละเล่นที่ได้รับความนิยมมากในชุมชนฝั่งธนบุรีในอดีต สันนิษฐานว่าคำว่า กระตั้ว แผลงมาจากคำว่า กระอั้ว และเนื้อเรื่องดัดแปลงมาจากเรื่อง มโนราห์ ในการแสดงมีการเล่นดนตรีประกอบเป็นวงเครื่องดนตรีประกอบด้วย กลองตุ๊ก กลองชาตรี ฉิ่ง ฉาบ กรับ และฆ้องคู่ โดยกระตั้วแทงเสือ คณะศิษย์หลวงปู่ผาด ก่อตั้งคณะขึ้นเพื่อรักษาต้นแบบของการแสดงการละเล่นทั้งท่วงทำนองของเสียง ดนตรีและเนื้อเรื่องที่นำเสนอตามที่ได้ถูกสั่งสอนมาจากครูบาอาจารย์
จากการสนทนากับหัวหน้าคณะทำให้ทราบถึงความมุ่งมั่นในการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดง “กระตั้วแทงเสือ” ด้วยการอนุรักษ์ความเป็นต้นแบบทั้งการดำเนินเรื่องตามเนื้อเรื่องต้นฉบับ และท่วงทำนองของเสียงดนตรีจากเครื่องดนตรีหลักในการแสดงโดยไม่มีการดัดแปลงให้เพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งความตั้งใจของคณะกระตั้วแทงเสือศิษย์หลวงปู่ผาดมีความประสงค์ในการเผยแพร่ศิลปะแขนงนี้ให้เป็นที่รู้จัก ให้เห็นคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมการแสดงที่สืบทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา การขยายวงการรับรู้ออกไปไกลกว่าพื้นที่ในฝั่งธนบุรีอันเป็นการต่อยอดสู่ความยั่งยืนในระดับประเทศและระดับสากล
กระตั้วแทงเสือ มีเรื่องราวที่ยึดถือแสดงกันมาอยู่แล้ว ไม่นิยมดัดแปลงเรื่อง ว่าด้วยเรื่องเสือมาหมู่บ้าน กัดคน ชาวบ้านร้องเรียนทางการจึงส่งทหารมาปราบเสือ ตัวเอกคือพรานบุญที่อาสาไปปราบเสือ คนไม่ค่อยรู้ว่าจริงๆ “เสือ” เป็นสัญลักษณ์เสริมอำนาจ บุญบารมีได้ ดังนั้นการจัดเชิญกระตั้วแทงเสือไปงานมงคลต่างๆก็เสริมบารมีได้ดีไม่แพ้สิงโต
ส่วนรูปแบบการแสดง แบ่งเป็น 2 กลุ่มทักษะที่ต่างกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง กระตั้วแทงเสือก็ไม่งดงาม จึงขาดกันไม่ได้
1. กลุ่มเล่นเครื่องดนตรีมโหรี เช่น เครื่องหนัง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ กลอง ฯลฯ
2. กลุ่มชุดแสดง มีตัวละครพรานบุญ ลูก ภรรยา เสือ ฯลฯ
การฝึกเล่นกระตั้วแทงเสือ เล่นได้ตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ 2-3 ขวบจนผู้ใหญ่เลย เล่นกันเต็มทีมราวๆ 20 คน ฝึกซ้อม ทุกวันทีมแสดงซ้อมหน้าบ้านพักทุกเย็นวันละราว 3-4 ชั่วโมง ส่วนทีมดนตรีไม่มีห้องซ้อมก็ไปเล่นใต้ทางด่วน ใกล้ BTS ทุกวันเหมือนกัน ทีมดนตรี มโหรี ไม่ง่าย ฝึกตีกลองเจ็บมาก ทนเลือดไหลเจ็บทีเดียว ตีกลองต้องใช้ประสาทสัมผัส และทักษะในการฟังให้ประสานกันเป็นวง ไม่มีการจดเนื้อหรือตัวโน้ตเป็นลายลักษณ์อักษร ฝึกฝนส่งไม้ต่อกันเป็นรุ่นๆ
ส่วนทีมชุดแสดง ด้วยเรื่องราวเป็นเนื้อเรื่องบังคับบิดเปลี่ยนไม่ได้ แต่ละกลุ่มเลยหาจุดต่างกัน ด้วยท่าทาง เช่น คิดเล่นท่าผาดโผน เพิ่มเติม ซึ่งจุดเด่นของคณะกระตั้วแทงเสือศิษย์หลวงปู่ผาด เด่นทั้งสองเรื่อง ทั้งดนตรีและการแสดง ทีมดนตรีเล่นเพลงได้มากกว่าอีกหลายๆ คณะ เพลงที่ใช้เล่นมีราวๆ 12 เพลง ไม่ใช่เพลงที่เล่นง่ายเลย คณะอื่นๆเล่นได้ไม่กี่เพลง แต่อาศัยครูพักลักจำฝึกฝนจนจดจําได้หลายเพลง ถ้าคนที่ฟังเป็นจะรู้ว่าเล่นดนตรีลํ้ากว่าคณะอื่น ถือว่าไม่ธรรมดาหาฟังยาก
ทีมการแสดงเก่งตรงสามารถปรับพื้นที่รอบข้างมาเป็นเวทีโชว์ผาดโผนได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสะพานลอย ตึกสูง เสือปีนป่ายตีลังกลับหลังได้แบบไม่มีอุปสรรค ต่อตัวสามชั้นหรือแม้แต่แสดงผาดโผนแบบละครสัตว์ลอดห่วงไฟก็แสดงกันได้
หัวใจของงานเน้นการทําด้วยใจรักของทีมกระตั้ว ทุกคนทำเพราะรัก รายได้จากการแสดงไม่ใช่รายได้หลัก ค่าจ้างแสดงมีอัตราต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนกำลังคนที่ใช้ในการแสดงแต่ละครั้ง การฝึกให้แสดงใช้เวลาและลําบากมาก แต่ก็ยังอยากทำ เช่น งานบวช ขบวนแสดงเดินรอบโบสถ์ 3 รอบ ค่าจ้างประมาณ 6,000 บาท หากเป็นงานใหญ่จัดเต็มการแสดงใช้คนทั้งหมดประมาณ 30-40 คน ค่าจ้างประมาณ 10,000-12,000 บาท
บทสรุปสาระสำคัญประเด็นหลัก คณะกระตั้วแทงเสือศิษย์หลวงปู่ผาด เป็นกลุ่มศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรมที่คนกรุงเทพฯ คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก จึงต้องการสร้างเป็นพื้นที่ “เชื่อม” ประสานเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เกิดการรับรู้ รู้จัก รักรากเหง้ามรดกวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดง และความเป็นคนตลาดพลูของตัวเอง เน้นประโยชน์ที่ได้ของคนรุ่นใหม่ๆ เอาเยาวชนมาใช้เวลาว่าง ไม่มัวหมกมุ่นกับ social media การพนัน และยาเสพติด และการเป็นพลังอำนาจละมุนสร้างคุณค่า คุณประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยั่งยืน
เอกสารอ้างอิง
Steve Thomson. (2020). Soft Power: Why it Matters to Governments, People, and Brands [ออนไลน์].
ค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2565, จาก: https://brandfinance.com/insights/soft-power-why-it-matters.
เศรษฐวุฒิ บ่อคำ และคณะกระตั้วแทงเสือหลวงปู่ผาด. (2565). สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565.