In News

ศาลยธ.แจงถอนประกันทานตะวัน-เพื่อน ชี้จำเลยประสงค์ได้ยื่นคำร้องขอถอนเอง



กรุงเทพฯ-โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงถอนประกันทานตะวันและเพื่อนตามที่จำเลยประสงค์และยื่นคำร้องขอถอนเอง หลัง ส.ส.ก้าวไกล ตั้งปมสงสัยศาล

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2566 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงข้อเท็จจริงและขั้นตอนการสั่งประกัน น.ส.ทานตะวัน (สงวนนามสกุล) คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีวันที่ 18 ม.ค.66 นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าว ณ อาคารรัฐสภา กล่าวตั้งข้อสังเกตถึงคำสั่งถอนประกันตัวและกระบวนการเรียกไต่สวนหลายประเด็นอันกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม และการตั้งคำถามถึงศาลว่าเป็นเครื่องมือบุคคลใดหรือไม่ ว่าจากการแถลงข่าวลักษณะการแสดงความเห็น อันอาจส่งผลให้บุคคลทั่วไปที่ได้รับฟังซึ่งมิได้รับทราบถึงกระบวนพิจารณาและความเป็นมาคดีโดยตลอดแต่ต้นมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และสำคัญผิดในข้อเท็จจริงต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงสิทธิเสรีภาพผู้ถูกดำเนินคดีอาญา ศาลยุติธรรมจึงขอแถลงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ดังนี้

1.กรณี น.ส.ทานตะวัน ในชั้นฝากขัง (ชั้นสอบสวน) ขณะตกเป็นผู้ต้องหา ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวตั้งแต่การฝากขังครั้งแรก วันที่ 7 มี.ค.2565 ตีราคาประกันวงเงิน 100,000 บาท และให้ติดอุปกรณ์กำไล EM กับกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือการกระทำการใดในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ภายหลังมีพฤติการณ์เข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวจากการโพสต์หมายกำหนดการเสด็จฯ และไลฟ์สดระหว่างขบวนเสด็จฯ วันที่ 17 มี.ค.2565พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องวันที่ 18 มี.ค.2565 ขอเพิกถอนประกันตัว โดยศาลอาญาพิจารณาไต่สวนพยานลักฐานแล้วมีคำสั่งวันที่ 20 เม.ย.2565 ให้เพิกถอนประกัน กระทั่งเดือน พ.ค.2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ใช้ตำแหน่งยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่ และวันที่ 20 พ.ค.2565 ศาลได้นัดไต่สวนคำร้อง ซึ่งระหว่างนั้น (25 พ.ค.2565)อัยการได้ยื่นฟ้อง น.ส.ทานตะวันต่อศาลอาญา โดยวันที่ 26 พ.ค.2565 ศาลนัดฟังคำสั่งประกันซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวลักษณะกำหนดเป็นช่วงระยะเวลา กำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่มีคำสั่งวันที่ 26 พ.ค.2565 ให้ทำสัญญาประกัน ตีราคาประกันวงเงิน 100,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์กำไล EM ห้ามออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เว้นแต่เป็นกรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามกระทำการใด ๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเกิดความกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล โดยตั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราว เป็นผู้กำกับดูแลความประพฤติ มีอำนาจในการว่ากล่าวตักเตือนและควบคุมมิให้กระทำผิดเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด หากมีการกระทำผิดเงื่อนไขถือว่าผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวผิดสัญญาประกัน ขณะที่ น.ส.ทานตะวัน แถลงรับไว้เองในการขอประกันตัวว่ายินดีรับเงื่อนไขทุกอย่างที่ศาลกำหนด และภายหลังจากที่ได้ประกันตัวแล้วระหว่างนั้นตั้งแต่เดือน มิ.ย.2565 – 10 ม.ค.2566 จำเลยและนายประกัน ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อเนื่องหลังจากที่ศาลเคยสั่งปล่อยชั่วคราวลักษณะกำหนดช่วงระยะเวลา คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว รวมทั้งคำขอออกนอกเคหสถาน ซึ่งศาลอาญาพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม

ทั้งนี้การติดอุปกรณ์กำไล EM เป็นมาตรการที่ศาลยุติธรรมนำมาใช้ในคดีอาญาทุกประเภทอยู่แล้วมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว มิได้ใช้เฉพาะในส่วนการคุมประพฤติ หรือใช้เฉพาะส่วนของกระบวนการควบคุมของกรมราชทัณฑ์เหมือนดังที่มีการแถลง การนำกำไล EM มาใช้มิได้ใช้เฉพาะเจาะจงคดีอาญาลักษณะใดเพียงประเภทเดียวเท่านั้น โดยใช้เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือมิให้ไปกระทำการอันอาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่นหรือฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น

2.กรณีที่กล่าวถึงการเรียกไต่สวนเพื่อพิจารณาว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขสัญญาประกันหรือไม่นั้น สืบเนื่องจากครั้งแรกศาลอาญาได้ไต่สวนการพิจารณาถอนประกัน คดีของนายโสภณ หรือเก็ท (สงวนนามสกุล) และคดีของ น.ส.ณัฐนิช หรือใบปอ (สงวนนามสกุล) (กรณีของเก็ท - ใบปอ ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนประกันตัววันที่ 9 ม.ค.2566) ซึ่งพนักงานสอบสวนให้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวโยงถึงน.ส.ทานตะวัน ว่ากระทำการที่ผิดเงื่อนไขของการประกันตัว ศาลอาญาจึงได้เรียก น.ส.ทานตะวัน มาสอบถามข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำการตามที่ปรากฏหรือไม่ โดยการเรียกมาสอบถามดังกล่าวเป็นเพราะปรากฎข้อเท็จจริงในชั้นศาลว่ามีการกระทำที่อาจฝ่าฝืนเงื่อนไขเกิดขึ้น ซึ่งในการทำสัญญาประกันตัวเป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยให้สัญญาไว้กับศาล หากภายหลังปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงที่อาจเข้าข่ายเป็นการผิดเงื่อนไข ศาลในฐานะที่เป็นคู่สัญญาประกันและมีอำนาจกำกับให้มีการปฏิบัติตามสัญญาประกันย่อมมีอำนาจเรียกผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมาสอบถามได้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องให้พนักงานสอบสวนหรือบุคคลใดร้องขอก่อน ที่สำคัญอีกประการคือคดีนี้แม้จะมีการเรียกมาสอบถาม แต่ในวันนัด น.ส.ทานตะวัน ขอเลื่อน โดยยังไม่ได้มีการไต่สวนแต่ประการใด โดยมีการกำหนดนัดใหม่ในวันที่ 1 มี.ค. ที่จะถึงนี้

3.กรณีที่กล่าวถึงการถอนประกันนั้น ข้อเท็จจริงคือกระบวนการเริ่มจาก น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรววรณ หรือแบม (สงวนนามสกุล) จำเลยคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2566 ขอยกเลิกการปล่อยชั่วคราวที่ศาลเคยมีคำสั่งให้ประกันตัวไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองคนประสงค์ขอถอนประกันตัวเอง โดยวันดังกล่าว น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ราดสีแดงบนตัว พร้อมอ่านแถลงการณ์ บริเวณหน้าป้ายสำนักงานศาลยุติธรรมและศาลอาญา ริมถนนรัชดาภิเษกด้วยก่อนที่ น.ส.ทานตะวันและทนายความ จะยื่นคำขอถอนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลอาญา ส่วน น.ส.อรวรรณและทนายความ แยกไปยื่นคำขอต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ที่มีคดีถูกฟ้องอยู่ ซึ่งทั้งศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตยกเลิกการปล่อยชั่วคราวตามคำขอของทั้งสองที่แสดงเจตนายืนยันความประสงค์ไว้อย่างชัดเจน และออกหมายขังทั้งสองกับปลดอุปกรณ์กำไล EM และตรวจคืนหลักประกัน เรียบร้อยตามขั้นตอนกฎหมาย

ข้อเท็จจริงส่วนนี้ จึงไม่ได้เกิดจากการที่ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งเพิกถอนประกัน แต่เป็นไปตามความประสงค์ของ น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ที่อาจเห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประกันตัวได้ โดยเมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือนายประกันนำตัวมาส่งตัวต่อศาล และแสดงความประสงค์ชัดเจนยืนยันที่จะไม่ประกันตัวอีกต่อไป ศาลได้ดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนปกติทั่วไป มิใช่กรณีเฉพาะพิเศษใด โดยสอบถามยืนยันตัวบุคคล และเจตนาที่ยื่นคำขอแล้วยืนยันที่จะขอถอนประกันตนเอง ดังนั้นศาลย่อมต้องมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนการประกันตัวได้ตามเจตนานั้นเพื่อมิให้เกิดเหตุของการผิดสัญญาประกันที่จะเป็นเหตุให้ต้องมีการปรับตามสัญญาประกันอีก

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำถึงการปฏิบัติหน้าผู้พิพากษาในการอำนวยความยุติธรรมว่า จะเป็นคดีใดก็ตาม หรือไม่ว่าผู้ต้องหาจำเลยจะเป็นบุคคลใด ผู้พิพากษาพึงรักษาความยุติธรรมเสมอบนความถูกต้องตามหลักกฎหมายอันเป็นสากล พร้อมยึดถือหลักนิติธรรม เป็นอิสระปราศจากอำนาจแทรกแซงใด ๆ  ใช้ดุลยพินิจด้วยความมีเหตุผลบนความรับผิดชอบต่อภารกิจอำนวยความยุติธรรมโดยเสมอภาค เป็นธรรม และทั่วถึง ไม่ว่าจะยุคสมัยใดศาลยุติธรรมยังคงเป็นที่พึ่งของประชาชนและสังคมโดยรวมเสมอ พร้อมธำรงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อการผดุงความยุติธรรมในทุกด้านอย่างแท้จริง