In News

ดีอีเอสเตือนปชช.ระวัง!ถูกหลอกให้กู้เงิน พบมิจฉาชีพปลอมโลโก้แบงค์ปล่อยกู้เพียบ



กรุงเทพฯ-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยมิจฉาชีพปลอมโลโก้แบงค์ระบาดหนัก สอดรับสถิติเฟคนิวส์รายสัปดาห์ล่าสุด พบข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจส่วนใหญ่เป็นเรื่องการกู้เงินออนไลน์ให้วงเงินสูง ระวัง! ถูกหลอกให้กู้เงินวอนตรวจสอบให้ดี ไม่โดนหลอกแน่

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำวันที่ 13 – 19 มกราคม 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 3,513,218 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 199 ข้อความ แบ่งเป็นข้อความที่มาจาก Social listening จำนวน 184 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Line Official จำนวน 15 ข้อความรวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 117 เรื่อง 

ทั้งนี้ ดีอีเอสได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจ เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ข่าวปลอมเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศจำนวน 72 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 ข่าวปลอมเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน26 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 ข่าวปลอมเรื่องภัยพิบัติ จำนวน 5 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 ข่าวปลอมเศรษฐกิจ จำนวน 14 เรื่อง

สำหรับข่าวปลอมทั้ง 4 กลุ่มมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องโควิค-19 จำนวน 1 เรื่อง

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวปลอมการเชิญชวนให้กู้เงินออนไลน์ โดยมีการนำโลโก้ตราสัญลักษณ์ของธนาคารมาใช้แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้จากสถาบันการเงิน แล้วมาหลอกลวงประชาชน ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง ข้อความในโทรศัพท์มือถือ สื่อสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์เฟสบุ๊ก และแอปพลิเคชั่นเงินกู้ โดยใช้ความเชิญชวนว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ จึงอยากเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นผู้ให้บริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และควรติดต่อไปยังผู้ให้บริการที่ถูกอ้างชื่อถึงก่อนตัดสินใจโอนเงิน เพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพย์สินได้” นางสาวนพวรรณ กล่าว     

         สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับระหว่างวันที่ 13 - 19 มกราคม 2566 ดังนี้

อันดับที่ 1 เรื่อง ธกส. ปล่อยกู้วงเงินสูง ผ่านเพจสินเชื่อเพื่อการเกษตร

อันดับที่ 2 เรื่อง เพจรับทำใบขับขี่ถูกกฎหมาย จากกรมการขนส่งทางบก

อันดับที่ 3 เรื่อง เริมที่ปากแก้ได้ด้วยการดื่มน้ำจากเปลือกไข่ไก่

อันดับที่ 4 เรื่อง ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหาร ทำให้ก่อมะเร็ง

อันดับที่ 5 เรื่อง รักษาโรคมะเร็ง ด้วยการกินหัวใต้ดินของว่านสบู่เลือดดองเหล้า

อันดับที่ 6 เรื่อง นวดศีรษะของตัวเอง วันละ 1 - 2 นาทีช่วยป้องกันเส้นเลือดสมองตีบได้

อันดับที่ 7 เรื่อง เพจ Trudyb Odonoghue รับทำใบขับขี่ออนไลน์ ใช้งานได้จริงตามกฎหมาย ส่งตรงจากกรมขนส่ง

อันดับที่ 8 เรื่อง ออมสินปล่อยกู้ผ่านเพจสินเชื่อออมสิน กู้ง่ายทางมือถือ

อันดับที่ 9 เรื่อง ออมสินปล่อยกู้ผ่านเพจ สินเชื่อออมสินธุรกิจ

อันดับที่ 10 เรื่อง การเหวี่ยงแขนไปมา ช่วยป้องกันความจำเสื่อม

อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ขอให้ประชาชนโปรดสังเกตให้รู้เท่าทัน อย่าหลงเชื่อกลโกงของมิจฉาชีพควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการเหล่านั้นได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ติดตามความเคลื่อนไหวข้อความที่ผิดปกติในทุกช่องทาง และได้มีการติดตามการกระทำผิดอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องประชาชนจากมิจฉาชีพในทุกรูปแบบ หากท่านได้รับการแจ้งข้อมูลที่ผิดปกติ ผ่านเอสเอ็มเอสหรือทางโทรศัพท์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ขอให้ท่านตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายอยู่บนโซเชียลมีเดีย และออนไลน์ โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

รองโฆษกรัฐบาลเผยตำรวจปราบอาชญากรรมออนไลน์ แนะ 3 วิธีตรวจสอบมือถือแอนดรอยด์ ถูกติดตั้งแอป รีโมทดูดเงินหรือไม่?

วันนี้ (21 ม.ค.66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) ได้แนะนำวิธีตรวจสอบมือถือระบบแอนดรอยด์(Android) แก่ประชาชนว่าถูกติดตั้งแอปพลิเคชั่นรีโมทดูดเงินหรือไม่ เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหายถูกขโมยข้อมูลและเงินผ่านมือถือ จากการพลั้งเผลอติดตั้งแอปพลิเคชั่นที่แฝงมัลแวร์ลงมือถือโดยไม่รู้ตัว เป็นการเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพควบคุมมือถือจากระยะไกลและสวมรอยทำธุรกรรมการเงิน โดยโอนเงินออกจากบัญชีแทนเจ้าของได้ 

ขั้นตอนการติดตั้ง มีดังนั้น

1. ไปที่เมนูการตั้งค่า (รูปฟันเฟือง) เลือก > แอพ แล้วกดที่จุด 3 จุด มุมขวาบน เลือกเมนูย่อย > การเข้าถึงพิเศษ

2. หากไม่สามารถเปิดดูเมนูดังกล่าวได้ โดยหน้าจอจะเด้งออกไปที่หน้าหลักทันที แสดงว่า มือถือเครื่องนั้นถูกฝังแอปฯเรียบร้อยแล้ว

3. สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทันที แล้วสำรองข้อมูลที่สำคัญ จากนั้นล้างเครื่อง โดยรีเซต(Reset) เครื่องกลับคืนค่าเริ่มต้นจากโรงงาน

นอกจากนี้นางสาวรัชดา กล่าวอีกว่า จากปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ที่มีกลุ่มมิจฉาชีพพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อล้วงข้อมูลส่วนตัวและดูดเงินจากบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ เร่งรัดดำเนินการมาตราการป้องกัน ยับยั้ง ปราบปราม และดำเนินคดี ที่ผ่านมามีกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน อย่างกรณีการป้องกันการโหลดแอปฯที่อันตราย ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบการแพร่ระบาดของมัลแวร์อันตรายที่มาในรูปแบบของแอปพลิเคชันบนมือถืออย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ใช้งานโทรศัพท์ที่ติดตั้งแอปฯฝังมัลแวร์อันตรายไว้ มีโอกาสที่จะถูกดูดข้อมูลส่วนบุคคลหรือถูกควบคุมมือถือจากระยะไกลทำให้มิจฉาชีพสามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือได้ 

จากข้อมูลในปี 2022 มีการเผยแพร่รายชื่อแอปพลิเคชั่นอันตราย  203 รายการ ทั้งในระบบ iOS และ Android ( ดูเพิ่มเติมได้ที่Facebook ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนทำการตรวจสอบ หากพบแอปพลิเคชั่นดังกล่าวให้ถอนการติดตั้งโดยทันที และควรอัพเดทระบบของเครื่องโทรศัพท์ของตนเองให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่เสมอ พร้อมทั้ง ขอให้ระมัดระวังในการดาวน์โหลดแอปฯต่างๆ มาใช้งานลงบนมือถือด้วย ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอส ได้ประสานกับทาง Play Store หรือ App Store ให้นำแอปเหล่านี้ออกจากระบบแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้