In News
รัฐฯเดินหน้าดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ให้ยู่ร่วมกัน ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม (2566-70)
กรุงเทพฯ-วันที่ 23 มกราคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของประเทศไทย ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนในชาติที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งด้านศาสนาความเชื่อ ภาษา วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสิ้น 60 กลุ่ม ประชากรมากกว่า 6 ล้านคน ครอบคลุม 67 จังหวัด ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการยอมรับ เข้าใจ เคารพในความหลากหลายและให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ และความมั่นคงของชาติ ซึ่งขณะนี้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะหน่วยงานระดับนโยบายด้านความมั่นคง ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อเป็นแนวทางการเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันของคนทุกกลุ่มทั่วทั้งประเทศ โดยหัวใจของแผนฉบับนี้ คือ การส่งเสริมให้ทุกคนในชาติ ได้รับการการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานและการพัฒนาศักยภาพ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ มีการบริหารจัดการความหลากหลายภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม
ทั้งนี้ ในระยะแรกจะให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งที่เป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง บนพื้นที่ราบ ในพื้นที่ป่า และกลุ่มที่อาศัยตามหมู่เกาะหรือชายฝั่ง รวมทั้งกลุ่มมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีแนวทางหลัก คือ 1) เสริมสร้างให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข บนการเคารพและ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน 2) เสริมสร้างการเรียนรู้และความเข้าในวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ของแต่ละกลุ่ม 3) ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพให้กับทุกกลุ่ม รวมทั้งให้ความสาคญั กับบทบาทสตรีในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในหมู่บ้านและ ชุมชนที่อยู่อาศัย และ 4)เน้นให้มีการบริหารจัดการที่ตอบสนองต่อบริบททางสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างเข้าใจ ตลอดจนเสริมสร้างกลไกในการ บูรณาการงานของภาครัฐในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับอำนวยการ และระดับการปฏิบัติ ทั้งส่วนกลางและในพื้นที่
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า แผนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 - 2570) จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคมเพื่อลดอุปสรรคของกลุ่มจากการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การเมืองกฎหมาย และวัฒนธรรมตลอดจนจากความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคม โดยจะได้เสริมสร้างให้มีหลักประกันด้านสิทธิความปลอดภัยตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานให้ปลอดจากความกลัว อีกทั้งจะหนุนเสริมให้กลุ่มดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งและพลังทางสังคมต่อไป