In Thailand

ศึกษาดูงานร่วมประชุมแนวทางบริหารจัดการปาล์มน้ำมันร่วม6จังหวัดภาคใต้



สุราษฎร์ธานี-คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ และร่วมประชุมแนวทางบริหารจัดการปาล์มน้ำมัน ร่วม 6 จังหวัดภาคใต้

วันนี้ (23 ม.ค.66) นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับ นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร และคณะ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี ในโอกาสลงพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ และร่วมประชุมแนวทางบริหารจัดการปาล์มน้ำมัน ร่วมกับ 6 จังหวัดภาคใต้ โดยมีนายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ

จากนั้น คณะกรรมาธิการ ได้ลงพื้นที่บริษัทท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม จำกัด อำเภอท่าฉาง เพื่อหารือถึงปัญหาอุปสรรคเรื่องการบริหารจัดการปาล์มทั้งระบบ หลังช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งมีปัญหารถขนส่งปาล์มน้ำมันต้องรอคิวส่งผลผลิตเข้าโรงงานสกัดนาน รวมถึงปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ร่วมกับ นายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ผู้บริหารกลุ่มบริษัทท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม จำกัด

ซึ่งทางผู้ประกอบการยืนยันว่า เป็นภาวะที่ปาล์มออกมาพร้อมกัน หลังช่วงหยุดยาวปีใหม่ แต่หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ก็เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ส่วนเรื่องราคาผลผลิต เป็นไปตามกลไกและความต้องการของตลาด แต่โรงงานมีการเพิ่มส่วนต่างให้เกษตรกรที่ทำปาล์มคุณภาพ หรือมีมาตรฐาน RSPO ซึ่งหากเกษตรตัดปาล์มคุณภาพ เหมือนช่วงที่ทำ สุราษฎร์โมเดล ราคารับซื้อก็จะสูงขึ้น และยังลดเวลาการคัดปาล์ม และลดจำนวนการส่งปาล์มไม่ได้คุณภาพคืน จากนั้น คณะ ได้สุ่มตรวจ ลานเท รับซื้อปาล์มแห่งหนึ่ง ระหว่างเส้นทาง และพบว่า ในลานเท มีปาล์มดิบ ไม่ได้คุณภาพอยู่จำนวนหนึ่ง

จึงได้พูดคุยกับเจ้าของลานเท สอบถามสาเหตุที่รับซื้อปาล์มไม่ได้คุณภาพเหล่านี้ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาออกมาตรการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะเดินทางต่อไปยัง ท่าเรือ pk มารีน เทรดดิ้ง ในเครือบริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด เพื่อติดตามเรื่องสถานการณ์ด้านสต็อกน้ำมันปาล์มดิบและการส่งออก ซึ่งปี 2565 มีการส่งออกน้ำมันปาล์มทุกชนิด ประมาณ 340,000 ตัน บางช่วงที่ต่างประเทศงดส่งออก ปริมาณการส่งออกและราคาสูงขึ้น แต่เมื่ออินโดนีเซีย และมาเลเซีย เริ่มส่งออก ทำให้ตัวเลขการส่งกลับลดลง และในปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่า ยิ่งส่งผลต่อการส่งออก แต่รัฐบาลก็มีแนวทางจะสนับสนุนการส่งออกด้วยการชดเชย ค่าส่งออกกิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา