In News

ชงเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกUNESCO



กรุงเทพฯ-ครม.เห็นชอบเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ทางวัฒนธรรม จาก UNESCO อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บ้านเผือ จ.อุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 3,662 ไร่ ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ประมาณ 3,599 ไร่ และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ประมาณ 62 ไร่

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 มกราคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบการนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จาก UNESCO ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวัฒนธรรมของไทยเพราะพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจะช่วยให้สัดส่วนการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น และพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทไม่มีแผนงาน/โครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานอื่นที่จะกระทบต่อการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บ้านเผือ จ.อุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 3,662 ไร่ ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ประมาณ 3,599 ไร่ และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ประมาณ 62 ไร่ มีหลักเกณฑ์ที่เข้าข่ายในการขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก 2 ข้อ คือ เกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม : เช่น สีมาหิน หรือภาพเขียนสีต่างๆ เป็นต้น  และเกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างลักษณะอันเด่นชัดของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มุ่งเน้นการเชื่อมโยงกับขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น หลักฐานการตัดแต่งหิน เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น

“ความโดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท คือ มีความสำคัญด้านเป็นพื้นที่ที่พบหลักฐานการเข้ามาใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องมากกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐาน เช่น ภาพเขียนสีตามเพิงหิน จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ โดยปรากฏวัฒนธรรมโดดเด่นที่เรียกว่า “สีมา” เป็นการปักเสาหินล้อมรอบเพิงหินจนกลายเป็นลานศักดิ์สิทธิ์หรือลานพิธี ซึ่งเป็นการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับเพิงหินสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อแบบพระพุทธศาสนาในการปักเสาหินเพื่อกำหนดพื้นที่ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา ซึ่งเป็นแหล่งเดียวที่ตั้งอยู่บนภูเขาและยังคงสภาพสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุดในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้มีการจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท พ.ศ. 2565 - 2569 ซึ่งได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยแผนดังกล่าวจะครอบคลุมการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แผนบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์ เป็นต้น นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น กรมศิลปากร กรมป่าไม้ จ.อุดรธานี ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแล้ว

“ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลก 6 แห่ง แบ่งเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  และยังมีมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่–ห้วยขาแข้ง ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าแก่งกระจานที่ประสบความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2564 ภายใต้การดำเนินการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ของไทยให้มีความสำคัญเป็นมรดกของโลก นอกจากนี้ยังมีเมืองโบราณศรีเทพที่อยู่ระหว่างเสนอชื่อเข้าสู่บัญชีแหล่งมรดกโลก ตามมติ ครม. วันที่ 19 มกราคม 2564” น.ส.ทิพานัน กล่าว