In News
ผ่านขยายมาตรการภาษีส่งเสริมการลงทุน ใช้งานระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์อีก3ปี
กรุงเทพฯ-นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ออกไปอีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อ 31 ธันวาคม 2565) โดยออกเป็นร่างกฎหมาย รวม 2 ฉบับ คือ 1.ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ 2.ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และระบบ e-Withholding Tax ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหักและนำส่งภาษีผ่านระบบ e-Withholding Tax มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ปี 2565 มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยมีผู้ประกอบการใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.34 เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายผ่านระบบ e-Withholding Tax เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 83.63 เมื่อเทียบกับปี 64
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ มีดังนี้
ฉบับแรก ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ เป็นการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไป ซึ่งเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้ 1)ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในระบบใบกากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) เช่น การจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 2)ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในระบบภาษี หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เช่น การจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้นำส่งภาษี 3)ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการระบบใบกากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) และระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) จากผู้ให้บริการ เช่น ค่าบริการของผู้ให้บริการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือค่าบริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ฉบับที่สอง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ มีสาระสำคัญ เป็นการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) โดยนิติบุคคล (ไม่รวมมูลนิธิหรือสมาคม) และบุคคลธรรมดา จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่มีอัตราร้อยละ 5 ร้อยละ 3 และร้อยละ 2 ลดเหลือร้อยละ 1 (จากเดิมที่ลดร้อยละ 2) สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์นี้ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 20 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการ 1)ส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และระบบ e-Withholding Tax อย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย 2) ลดต้นทุนการจัดทำ การจัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการเสียภาษีของภาคเอกชน และ 3) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e - Withholding Tax) จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น ปีละประมาณ 9,800 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนที่เพิ่มมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจต่อไป