EDU Research & ESG
ชมรมครูประถมศรีสะเกษแต่งดำบุกสภา เดินหน้าต้านพ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่
กรุงเทพฯ-ที่หน้าอาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานครนายสุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยข้าราชการครู พร้อมใจกันแต่งชุดดำ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์แทนครูทั้งชาติ พร้อมกับชูป้ายต่อต้านคัดค้านไม่เอา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับใหม่
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หน้าอาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร นายสุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยข้าราชการครู พร้อมใจกันแต่งชุดดำ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์แทนครูทั้งชาติ พร้อมกับชูป้ายต่อต้านคัดค้านไม่เอา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับใหม่ ที่กำลังมีการพิจจารณาอยู่ในขณะนี้ พร้อมกับเข้ายื่นหนังสือต่อพรรคการเมืองทุกพรรค ขอบคุณที่ ส.ส. ส.ว. รัฐสภา ไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฉบับดังกล่าว
นายสุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า นี่คืออนาคตของข้าราชการครู พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 บทเฉพาะกาล มาตรา 71 บัญญัติว่า ให้กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานการศึกษา และสถานศึกษา ที่มีอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ยังคงมีฐานะและอำนาจหน้าที่เช่นเดิม จนกว่าจะได้มีการจัดระบบการบริหารและการจัดการศึกษาตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.นี้ ซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปีนับแต่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ บัญญัติไว้เพียงมาตราเดียวแค่นี้ โรงเรียนของรัฐ(โรงเรียนของเรา) ทุกโรงก็ยังเป็นโรงเรียนของรัฐอีกต่อไป เมื่อโรงเรียนทุกโรงที่เราอยู่เป็นของรัฐอีกต่อไป พวกเราทุกคนทั้งผู้บริหารโรงเรียน และครูทุกคนจึงได้มีฐานะเป็นข้าราชการครูมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ในขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ อยู่ระหว่างพิจารณาของรัฐสภาวาระ 2 และ 3 มีเจตนารมณ์ว่าจะให้ประชาชนและเอกชนจัดการศึกษาของชาติแทนรัฐให้มากที่สุด รัฐจะไปทำหน้าที่กำกับ สนับสนุน ส่งเสริม อำนวยความสะดวก อุดหนุน(แทนการจัดการศึกษาเหมือนเดิม) มาตรา 48 จึงบัญญัติว่ารัฐไม่ต้องจัดการศึกษาภาคบังคับให้เด็กเอง มาตรา 11 ก็บัญญัติให้ประชาชนจัดสอนเด็กได้ถึงชั้น ม.6 ให้เอกชน บุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคล จัดสอนเด็กได้ถึงระดับอุดมศึกษา รัฐมีหน้าที่จัดเงินให้เด็กระดับ ม.6 ลงมาให้เพียงพอ(ไม่ใช่พอเพียง) ที่จะไปเรียนได้ และในกรณีภาคเอกชนจัดการศึกษาระดับก่อนวัยเรียนและระดับประถมศึกษา รัฐจะมอบหมายให้เอกชนเข้าบริหารจัดการศึกษาหรือดำเนินการโดยใช้ทรัพยากรของรัฐก็ได้ ซึ่งทรัพยากรของรัฐหมายถึงโรงเรียนของรัฐนั่นเอง ซึ่งประกอบด้วยที่ดิน อาคารสถานที่ สิ่งปลูกสร้าง วัสดุและครุภัณฑ์ สรุปคือ มาตรานี้รัฐจะมอบหมายโรงเรียนของรัฐให้เอกชนจัดการเรียนการสอนแทนรัฐต่อไป
ดังนั้น ในบทเฉพาะกาลของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงไม่มีมาตราใดบัญญัติไว้ว่า สถานศึกษาของรัฐที่มีอยู่ยังคงเป็นของรัฐ มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดิมเหมือน พ.ร.บ. 42 จะเห็นว่าแต่ละมาตราสอดคล้องและสอดรับกันทุกประการ ข้าราชการครูพอจะรู้อนาคตของตนเองหรือยัง โรงเรียนมีก็ให้เขาแล้ว ครูเราจะไปอยู่ที่ไหนกัน.
บุญทัน ธุศรีวรรณ / ศรีสะเกษ