In Thailand

ชาวศรีมโหสถยังรอคำตอบจากรมศิลป์เรื่องการเปลี่ยนชื่อภูเขาทอง



ปราจีนบุรี-จากที่ร่วมลงนามท้ายจดหมายส่งร้องเรียน ถึงนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอให้พิจารณาแจ้งไปยังกรมศิลปากรให้ทบทวนการเปลี่ยนป้ายชื่อ ‘โบราณสถานหมายเลข 3’ อําเภอศรีมโหสถ ชาว ศรีมโหสถ ยังรอคำตอบจากรมศิลป์เรื่องการเปลี่ยนชื่อ ภูเขาทอง

วันนี้ 24 ม.ค.66  ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานความคืบหน้า  จากที่นายกำพล ภู่มณี อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปราจีนบุรี (สว.) และ ชาว อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรีจำนวนหนึ่ง ร่วมลงนามท้ายจดหมายส่งร้องเรียน ถึงนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอให้พิจารณาแจ้งไปยังกรมศิลปากรให้ทบทวนการเปลี่ยนป้ายชื่อ ‘โบราณสถานหมายเลข 3’ อําเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี จากเดิม ‘เจดีย์ภูเขาทอง’ เปลี่ยนมาเป็น ‘เชิงเทินสําหรับสังเกตการณ์ของเมือง’ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลต่อความเสียหายในประวัติศาสตร์เมืองศรีมโหสถ และ ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีต เนื่องจาก โบราณสถานหมายเลข 3 เจดีย์ภูเขาทอง น่าจะเป็นเจดีย์หรือสถูปที่สําคัญทางพระพุทธศาสนาของเมืองศรีมโหสถโบราณมากกว่าจะเป็นเพียงเชิงเทินสังเกตการณ์

เพราะลักษณะของเมืองโบราณในสมัยทวารวดี ไม่ว่าจะเป็นเมืองคูบัว เมืองนครปฐมโบราณ และ เมืองศรีมโหสถ ไม่ปรากฏโบราณสถานในลักษณะเชิงเทินสังเกตการณ์ทางต้นทิศตะวันตกหรือนอกเมืองแต่อย่างใด แต่จะมีรูปแบบที่ชัดเจนว่า มีสถูปหรือเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือพระบรมธาตุเจดีย์อยูทางด้านทิศตะวันตก นอกเมือง ด้วยคติความเชื่อว่าได้ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ที่พระพุทธองค์ประสูติตรัสรู้ ปรินิพพานมากที่สุด

“ข้อสังเกตที่สําคัญประการหนึ่งก็คือ ได้มีการขุดพบพระพุทธรูปทองคําคือพระนิรันตรายในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพระบรมธาตุเจดีย์ กล่าวว่าพระพุทธรูปทองคําดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกับสถานที่ที่ตั้งของเจดีย์ภูเขาทองในทางพระพุทธศาสนาคือ น่าจะเป็นพุทธบูชาต่อพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต้องการให้มีการขุดค้นโบราณสถาน –ทำวิจัยทางประวัติศาสตร์ นั้น

หน่วยศิลปากรที่5 ปราจีนบุรี แจ้งว่า ในการเปลี่ยนป้ายชื่อโบราณสถานหมายเลข3 จาก "ภูเขาทอง" เป็นเชิงเทินสังเกตการณ์นั้น ทางนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากรได้ให้นโยบายผ่านทางสื่อมวลชนแล้ว  รอคำสั่งอย่างเป็นทางการ เอกสารตัวจริงยังมาไม่ถึงสำนักงานหน่วยศิลปากรที่5 ปราจีนบุรี

ทั้งนี้ก่อนหน้าทางนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากรได้มีการเปิดเผยผ่านสื่อมวลชน  ว่า    การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ เป็นไปตามโครงการการเปลี่ยนป้ายชื่อโบราณสถานภายใน อ.ศรีมโหสถ ทั้งหมด เริ่มดำเนินการมาประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา ขณะนั้นได้ให้นักวิชาการช่วยตรวจสอบความถูกต้อง และ มีการเสนอให้เปลี่ยนชื่อจากเจดีย์ภูเขาทอง มาเป็นเชิงเทินสำหรับสังเกตการณ์ของเมือง

ซึ่งไม่ได้คิดว่าจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวบ้าน ดังนั้น กรมศิลปากรจึงขอให้สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ตรวจสอบ และทบทวนเรื่องดังกล่าว โดยขอให้รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ถ้าเกิดปัญหากระทบต่อความรู้สึกของชาวบ้าน และคนในชุมชน ก็ให้เปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อเดิม

“สำหรับสาเหตุที่เปลี่ยนชื่อ เนื่องจากพบหลักฐานบริเวณดังกล่าว เป็นเชิงเทิน หรือเนินดิน การเสนอเปลี่ยนชื่อดูตามลักษณะของโบราณสถาน ขณะเดียวกันยังพบพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งชาวบ้านอาจไม่อยากให้เปลี่ยนชื่อเป็นเนินดินธรรมดา    ทั้งนี้ ชื่อทั้งหมดที่ใช้เรียกโบราณสถาน เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาภายหลัง เดิมกำหนดเป็นหมายเลข   ดังนั้น นอกจากจะต้องตั้งชื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของโบราณสถานที่แท้จริงด้วย

ด้านนางรัชนี  เทียบแก้ว ผู้ยื่นเรื่องคัดค้านการเปลี่ยนชื่อ ภูเขาทอง กล่าวว่า  ชาวอำเภอศรีมโหสถ ตื่นตัวรอการเปิดเวทีสาธารณะจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี รวมถึงกรมศิลปากร ที่จะนำหลักฐานข้อมูลอ้างอิง เรื่องการ  เปลี่ยนป้ายชื่อ ‘โบราณสถานหมายเลข 3’ อําเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรีจากของเดิม ‘เจดีย์ภูเขาทอง’ แต่เปลี่ยนมาเป็น ‘เชิงเทินสําหรับสังเกตการณ์ของเมือง’ เนื่องจากเกรงกระทบประวัติศาสตร์ดั้งเดิม – ความรู้สึกชาวบ้าน ที่เชื่อกันว่าโบราณสถาน “ภูเขาทอง”ที่พบพระนิรันตราย  รวมถึงต้องการให้มีการขุดแต่ง ค้นคว้าหาหลักฐานจากโบราณสถานแห่งนี้อีกด้วย นางรัชนี  กล่าว

                                                                ***  (เคียงข่าว) ***

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม วิกิพิเดียสารานุกรมเสรี  รายงานว่า พระนิรันตราย    เป็นพระพุทธรูปโบราณสององค์ซ้อนกัน องค์ใน ในตำนานพระพุทธรูปสำคัญ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่กำนันอินและนายยังบุตรชาย ขุดพบเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2399 ที่ชายป่าแขวงเมืองปราจีนบุรี ห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณสามเส้น   (ปัจจุบันคือโบราณสถานหมายเลข ๓ ซึ่งเรียกว่าเนินภูเขาทองในเขตโบราณสถานศรีมโหสถ) ในขณะที่กำลังขุดมันนกกันอยู่ โดยก่อนหน้านั้น ฝันว่าจับช้างเผือกได้เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำเนื้อหก น้ำหนักเจ็ดตำลึงสิบเอ็ดสลึง พุทธศิลปะแบบทวารวดี จึงให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พาเข้ามา ณ กรุงเทพฯ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในวันพระฤกษ์เฉลิมพระราชมณเฑียรสีตลาภิรมย์

แต่ใน ร่างสารตราเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเอกสารชั้นต้น เมื่อปี 2399 กล่าวว่า นายปัน กับ นายอิน สองพ่อลูก ไปขุดร่อนทอง  ที่ดงศรีมหาโพธิ์แล้วเจอพระทองคำ และได้นำไปให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา

พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์จึงบอกกรมการและพระยาวิเศษฤๅไชยเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา กรมการเมืองฉะเชิงเทราทั้งหลายจึงพร้อมใจกันทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นพระองค์ก็ได้สอบถามที่ไปที่มาและได้พระราชทานเงินตรากับกรมการเมือง และพ่อลูกไปแบ่งกัน

จึงสันนิฐานน่าจะเป็นตามที่ร่างสารตราเมืองฉะเชิงเทรากล่าวไว้มากกว่าภายหลัง โปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาประดิษฐานที่หอเสถียรธรรมปริต หลังจากนั้นได้มีขโมยมาขโมยของ ซึ่งขโมยหยิบพระกริ่งทองคำไป แต่พระทองคำองค์นี้ ขโมยไม่หยิบไปด้วย เรื่องทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามใหม่ให้ว่า "พระนิรันตราย" และโปรดเกล้าฯ ให้ หล่อองค์ใหม่ครอบองค์เดิมมาจนถึงทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระนิรันตราย” อีก 18 องค์  สำหรับพระราชทานถวายพระอารามแห่งธรรมยุติกนิกาย 18 พระอาราม เท่าจำนวนปีที่เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติ แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน

การนี้สำเร็จตามพระราชประสงค์ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะพิเศษของพระนิรันตรายสำรับนี้ คือ มีส่วนที่เพิ่มเติมจากพระนิรันตรายองค์เดิม ได้แก่ ซุ้มเรือนแก้ว ทำเป็นพุ่มพระศรีมหาโพธิ์ประกอบ ยอดซุ้มประดับลายพระมหามงกุฎ และจารึกบท “อิติปิโส ภควา” 9 วรรค เป็นอักษรขอมประดับตามซุ้ม ส่วนฐานประดับรูปโค เจาะรูบริเวณปากโค น้ำสรงพระนิรันตรายจะไหลออกทางปากโค

วัดในกรุงเทพฯที่สามารถพบพระนิรันตรายในพระอุโบสถหน้าพระประธาน เช่น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

องค์นอก พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรต้องตามพุทธลักษณะหน้าตักห้านิ้วกึ่ง หล่อด้วยทองคำ สวมครอบพระพุทธรูปนิรันตรายไว้อีกชั้นหนึ่งไม่มีซุ้มเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ์อยู่เบื้องหลัง

การอัญเชิญมาประกอบพระราชพิธี     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญพระนิรันตรายทองคำประดิษฐานในพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ( ทำบุญตรุษ ) พระราชพิธีสงกรานต์ ปัจจุบัน เจ้าพนักงานภูษามาลายังรักษาแบบแผนโบราณราชประเพณีโดยอัญเชิญพระนิรันตรายไปตั้งในพระราชพิธีสำคัญ เช่น ในการบำเพ็ญพระราชกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษา และการพระราชกุศลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้น    ปัจจุบัน  พระนิรันตรายประดิษฐานอยู่ที่หอพระสุราลัยพิมาน หมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง

มานิตย์   สนับบุญ / ปราจีนบุรี