In Thailand

ร่วมลงนามMOU‘กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ’ร่วมดูแลคนพิการผู้สูงอายุฯ



ศรีสะเกษ -สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 10 อุบลราชธานี จับมือองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ลงนาม MOU “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ” ร่วมดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุฯ เข้าถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพและบริการทางสังคม

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 24 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ชั้น 3 นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีลงนาม MOU การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ และนางมลุลี แสนใจ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 10 อุบลราชานี ร่วมลงนามในครั้งนี้ โดยมี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ รองนายแพทย์สาธาณสุขจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูสมรรถภาพในท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

         

นางมลุลี แสนใจ ผอ.สปสช.เขต 10 กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุและคนพิการได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพและได้รับการดูแลด้านสภาพแวดล้อมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นลงนามจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด พร้อมเตรียมสมทบเงินเพิ่มบาท หวังสนับสนุนกายอุปกรณ์และปรับสภาพแวดล้อมผู้พิการให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด กองทุนนี้ก่อตั้งมาประมาณ 10 กว่าปี ปัจจุบันมี อบจ.58 จังหวัด จัดตั้งกองทุนนี้และเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่าเกิดระบบการดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ครอบคลุมเกินกว่ามิติทางสุขภาพ อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่สามารถเติมเต็มช่องว่างในการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯ ในอนาคตอันใกล้นี้ยังจะมีเรื่องการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่ง อบจ.จะมีบทบาทด้านสุขภาพเพิ่มเติมมากขึ้น สปสช.จึงมีแนวคิดปรับเปลี่ยนกองทุนฟื้นฟูฯให้รองรับการถ่ายโอนและสนับสนุนการทำงานของ อบจ. โดยเสนอว่าให้ขยายขอบเขตบริการจากกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับจังหวัด โดยเพิ่มในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และรักษาโรคเบื้องต้นด้วย เพื่อเสริมการทำงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลที่มีอยู่แต่เดิมอยู่แล้ว และจะช่วยดูแลสุขภาพและการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนทั้งจังหวัด อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ยังเป็นแนวคิดและต้องหารือรายละเอียดกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องในอนาคต

     

ด้านนายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ  ดำเนินการส่งเสริมสุขภาวะประชากรทุกช่วงวัย ภายใต้แนวคิด “สร้าง นำ ซ่อม” โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพกายใจที่สมบูรณ์แข็งแรง ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ มีภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม รู้จักการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม แต่เมื่อมีผู้ประสบเหตุที่ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพชั่วคราว หรือพิการถาวร ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม ตามข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ณ เดือนมิถุนายน 2565 จังหวัดศรีสะเกษมีประชากรทั้งสิ้น จำนวน 1,508,206 คน มีผู้สูงอายุ จำนวน 274,048 คน คิดเป็นร้อยละ 18.17 ผู้พิการ จำนวน 42,213 คน คิดเป็น ร้อยละ 2.8 ตังนั้น

การจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดศรีสะเกษ จะทำให้ชาวจังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะกลุ่มที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการ ได้แก่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้รับการดูแลด้านบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งในหน่วยบริการและในชุมชน ผู้พิการได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับคนพิการที่เหมาะสม การสนับสนุนศูนย์ซ่อมอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ ศูนย์ยืมคืนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ตลอดจนการจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ลดโอกาสในการเกิดความพิการซ้ำช้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแล ซึ่งทั้งหมดนี้ จะดำเนินการภายใต้ความดูแลของคณะกรรมการกองทุน โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องชาวจังหวัดศรีสะเกษ ในการเข้าถึงบริการต่างๆดังกล่าวข้างต้นได้ต่อไป

ลักขณา กงแก้ว / ศรีสะเกษ