In News
ดัชนีเชื่อมั่นอนาคตศก.ภูมิภาคในม.ค.ปี66 'ตอ.-กลาง-ใต้-กทม.'ท่องเที่ยวดันฟื้นตัว
กรุงเทพฯ-สำนักเศรษฐกิจการคลัง เผย“ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมกราคม 2566 ในภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคกลาง กทม. และปริมณฑล ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2566 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมกราคม 2566 ในภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ” โดยมีรายละเอียดดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 83.1 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าและอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 51 เดือน แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 82.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 66 เดือน แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคการลงทุนในอนาคตที่ดีขึ้น
เนื่องจากผลประกอบการที่ดีขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและกลุ่มก่อสร้าง ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 80.5 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 74.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกทั้งยังมีการจัดงานประเพณีประจำท้องถิ่นในบางพื้นที่ร่วมด้วย และในภาคการลงทุน เนื่องจากผู้ประกอบการภาคบริการมีแนวโน้มจะขยายธุรกิจของตนเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ระดับ 72.4 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น และในภาคการจ้างงาน
เนื่องจากคาดว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่จะจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น จากผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 71.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคการลงทุนในอนาคตที่ดีขึ้น
เนื่องจากคาดว่าผู้ประกอบการภาคบริการในพื้นที่มีแนวโน้มจะขยายธุรกิจของตนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 59.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าแสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมของประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น และในภาคบริการจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
ตารางสรุปดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือนมกราคม 2566
กทม. และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก
ดัชนีความเชื่อมั่น
อนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค 59.6 83.1 74.3 82.9 72.4 71.9 80.5
ดัชนีแนวโน้มรายภาค
1) ภาคเกษตร 61.6 82.8 73.2 78.2 72.8 71.0 74.1
2) ภาคอุตสาหกรรม 72.0 85.0 67.8 79.7 63.2 55.9 90.1
3) ภาคบริการ 64.0 88.0 83.0 93.7 81.7 84.2 87.6
4) ภาคการจ้างงาน 54.6 78.3 72.6 81.0 72.9 72.2 72.4
5) ภาคการลงทุน 45.8 81.6 74.9 82.0 71.4 76.3 78.4
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3254