In News
'จุรินทร์-เฉลิมชัย'ควงกันลงพื้นที่ตะกั่วป่า เปิดป้ายโกดังรวมยางสหกรณ์เกษตรฯ
พังงา-“จุรินทร์-เฉลิมชัย” ติดตามความคืบหน้าและพบปะสมาชิกสหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จำกัด จังหวัดพังงาและเปิดป้ายอาคารรวบรวมผลผลิตยางพารา หลังได้รับงบสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จำกัด ซึ่งสหกรณ์ดังกล่าว ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซุปเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแก่สมาชิก เชื่อมโยงเครือข่ายสินค้ากับสหกรณ์ทั้งในและนอกจังหวัด และนำสินค้า/ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกมาจำหน่ายร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ อีกทั้งยังดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้ พัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรให้กับสมาชิกสู่มาตรฐาน GAP ส่งเสริมให้สมาชิกทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ การปลูกไม้ผล การปลูกพืชผักสวนครัว และส่งเสริมการใช้ปุ๋ยสั่งตัด โดยการให้บริการตรวจสภาพดินแก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป เพื่อลดต้นทุนการผลิต
สำหรับอาคารรวบรวมผลิตยางพารา ที่สหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จํากัด ได้ยื่นขอรับเงินอุดหนุน ในคราวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางมาตรวจราชการ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 จึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในปี 2565 วงเงิน 5,395,448 บาท เพื่อเป็นอาคารรวบรวมผลผลิตยางพาราของเกษตรกรในพื้นที่อําเภอตะกั่วป่าและอําเภอใกล้เคียง และเพื่อจัดตั้งเป็นตลาดเครือข่าย ตลาดกลางยางพาราจังหวัดพังงา ซึ่งอาคารรวบรวมผลผลิตยางพาราแห่งนี้ นอกจากจะรวบรวมผลผลิตยางพาราแล้ว ยังสามารถรวบรวมผลผลิตจากกลุ่มแปลงใหญ่ต่าง ๆ ได้อีกด้วย อีกทั้ง กยท. ยังให้เงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประชุมใหญ่ ค่าไฟฟ้า ค่าศึกษาดูงาน และค่าศึกษาอบรมแก่สมาชิกสหกรณ์ เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพังงา ยังได้สนับสนุนเครื่องตัดหญ้า จำนวน 5 เครื่อง ฉางปูน 500 ตัน จำนวน 1หลัง ลานตาก ขนาด 3,900 ตร.ม 1 แห่ง เครื่องชั่ง ขนาด 40 ตัน 1 เครื่อง รถไถ ขนาดไม่ตำกว่า 47 แรงม้า 1 คัน และชุดตรวจวิเคราะห์ดิน 1 ชุดด้วย
ปัจจุบันจังหวัดพังงา มีเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งเจ้าของสวนและคนกรีดยาง จํานวน 32,239 ราย เนื้อที่ 615,549 ไร่ รวมถึงสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จํานวน 14 สถาบัน ที่ได้ดําเนินการขึ้นทะเบียนกับ กยท. แล้ว โดยสหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จํากัด เป็น 1 ใน 14 สถาบัน ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 มีการดําเนินธุรกิจ 3 กิจกรรม คือ 1) ธุรกิจปุ๋ยและเป็นจุดจ่ายปุ๋ยของ กยท. 2) ธุรกิจรวบรวมยางพาราจากสมาชิกฯ และ 3) ธุรกิจสินเชื่อแก่สมาชิก
ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จำกัด มีสมาชิกจำนวน 910 คน มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 92.72 ล้านบาท ปริมาณธุรกิจ 43.33 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการในการรวบรวมผลผลิต (ยางก้อนถ้วย) จากสมาชิก จำนวน 9.5 ตัน มูลค่า 184,631.25 บาท จัดหาสินค้ามาจำหน่ายบริการสมาชิก มูลค่า 21,760,142.30 บาท ให้สินเชื่อแก่สมาชิก จำนวน 45 ราย มูลค่า 7,572,939 บาท อีกทั้งยังได้ส่งเสริมอาชีพสมาชิก ส่งเสริมกลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้านทำเครื่องแกงซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพสังกัดสหกรณ์ การส่งเสริมสมาชิกในการดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือจากการบริโภคนำมาฝากขายที่สหกรณ์สร้างรายได้เสริมให้แก่สมาชิก โดยในอนาคตได้วางแผนการดำเนินงานในการเพิ่มปริมาณการรวบรวมผลผลิตทางเกษตร ทั้งการรวบรวมยางพารา และผลไม้ตามฤดูกาล ส่งเสริมสมาชิกผลิตสินค้าคุณภาพตามมาตรฐาน GAP และส่งเสริมสมาชิกดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ด้วย
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม MOU การซื้อ-ขายสินค้าเกษตร ระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกร ตามนโยบาย “พังงาครัวอันดามัน” อีกทั้งยังได้มอบเช็คเงินอุดหนุนจากการยางแห่งประเทศไทย ในการสร้างอาคารรวบรวมผลผลิต มูลค่า 5,395,448 บาท มอบปัจจัยการผลิตให้กับตัวแทนเกษตรกรแปลงใหญ่ยางพาราสหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จำกัด มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) มอบพันธุ์ปลาน้ำจืด (ปลาสุลต่าน) จำนวน 50,000 ตัว ให้กับผู้แทนเกษตรกร พร้อมเปิดป้ายอาคารรวบรวมผลผลิตการเกษตรของสหกรณ์ฯ และร่วมกิจกรรมนำร่องการใช้นวัตกรรมเจาะต้นยางพาราร่วมการใช้แก๊สเอทธิลีนเพิ่มผลผลิตยางพาราด้วย
“การลงพื้นที่ในวันนี้มีความรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากที่สามารถทำในสิ่งที่สัญญาไว้กับพี่น้องเกษตรกร ที่จะร่วมกันแก้ปัญหา สร้างความมั่นคง และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรได้ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าหลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป สิ่งที่จะมาทดแทนคือนักท่องเที่ยว จึงต้องใช้โอกาสนี้ในการใช้พื้นที่ของจังหวัดพังงาในการเป็นครัวของอันดามัน กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยการสนับสนุนงบประมาณและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ รวมถึงบูรณาการกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง และร่วมกันสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องชาวจังหวัดพังงาต่อไป” ดร.เฉลิมชัย กล่าว