In Bangkok

'จักกพันธุ์'พาส่องสวน15นาทีเขตบางกะปิ ชมคัดแยกขยะ-เช็คค่าฝุ่น-ตรวจหาบเร่



กรุงเทพฯ-ส่องสวน 15 นาทีต่างระดับศรีนครินทร์-กรุงเทพกรีฑา ชมคัดแยกขยะไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ สำรวจที่ดินกรีนสปอต ลุยเช็กค่าฝุ่น PM2.5 คอนโดรามคำแหง 47 เล็งจุด Hawker Center ย่านแฮปปี้แลนด์ ตรวจผู้ค้าหน้าตลาดบางกะปิ ชมการแยกขยะเขตบางกะปิ 

(30 ม.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกะปิ ประกอบด้วย 

สำรวจสวน 15 นาที บริเวณทางต่างระดับถนนศรีนครินทร์กับถนนกรุงเทพกรีฑา เขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ว่างบริเวณทางต่างระดับถนนศรีนครินทร์กับถนนกรุงเทพกรีฑา จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.บริเวณวงในต่างระดับ ขนาดพื้นที่ 4.42 ไร่ ปรับปรุงเป็นสวน 15 นาที ในรูปแบบสวนป่า โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไม้จากบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ในระยะแรกดำเนินการปลูกสวนป่าครอบคลุมพื้นที่ 2 ไร่ โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีปลูกต้นไม้ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 และเขตฯ ได้ประสานสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการปรับปรุงสวนเพิ่มเติม จัดทำลู่วิ่งทางเดินและปรับรูปแบบสวนให้มีความสวยงาม รวมทั้งขอรับการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำมาช่วยรดน้ำต้นไม้ด้วย ส่วนพื้นที่ที่เหลืออยู่อีก 2 ไร่ รอรับการสนับสนุนพันธุ์ไม้จากบริษัทโอสถสภา ในปีต่อไป 2.บริเวณแปลงสามเหลี่ยม ใกล้สินธรสเต็กเฮ้าส์ ขนาดพื้นที่ 0.98 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงเป็นสวน 15 นาที ในรูปแบบสวนหย่อม โดยปูหญ้าปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชน นอกจากนี้ได้สำรวจสวนปิยภิรมย์ มีพื้นที่ 10 ไร่ มีไฟฟ้าส่องสว่างภายในสวน 25 ดวง สภาพปัญหาทางด้านกายภาพ ได้แก่ บางจุดยังขาดไฟฟ้าส่องสว่าง เช่น ใต้สะพานทางลง ขาดแคลนแหล่งน้ำ ไม่มีกล้อง CCTV ไม่มีป้ายประชาสัมพันธ์ภายในสวน ไม่มีสุขาสาธารณะ (สำนักสิ่งแวดล้อม ขอจัดสรรงบประมาณก่อสร้าง จำนวน 1 หลัง) ไม่มีรั้วกั้นรอบสวน 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนศรีนครินทร์ ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ขนมปังกรอบ วิธีการจัดการขยะ โดยแยกขยะออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1.ขยะทั่วไป 2.ขยะเศษอาหาร (แยกใส่ถังใส่เศษอาหารและนำมาทิ้งที่จุดรวม) 3.ขยะติดเชื้อ (แยกใส่ถังที่จัดเตรียมไว้) 4.ขยะอันตราย (แยกใส่ถังที่จัดเตรียมไว้) 5.ขยะรีไซเคิล (คัดแยกและจำหน่ายโดยแม่บ้าน) สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยก 1,092 กิโลกรัม/เดือน และปริมาณขยะหลังคัดแยก 364 กิโลกรัม/เดือน 

สำรวจและแจ้งการใช้ประโยชน์ที่ดิน บริเวณบริษัท กรีนสปอต จำกัด พื้นที่ 18 ไร่ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากที่ดิน จากเดิมเป็นโรงงานผลิตเครื่องดื่ม ปัจจุบันได้ย้ายโรงงานผลิตไปอยู่บริเวณอื่นแล้ว จึงมีการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่เพื่อทำการเกษตร จำนวน 6 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่อาคารสำนักงาน ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 57,226 แปลง สำรวจครบแล้ว สิ่งปลูกสร้าง 53,932 แห่ง สำรวจแล้ว 41,942 แห่ง คงเหลือ 11,990 แห่ง ห้องชุด 58,973ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 170,131 รายการ สำรวจแล้ว 158,141 รายการ คงเหลือ 11,990 รายการ ในปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าอาจมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น หรืออาจมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป เพื่อทำประโยชน์อย่างอื่น เขตฯ จึงต้องลงพื้นที่สำรวจสภาพพื้นที่จริง เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง เพื่อนำไปประเมินในการจัดเก็บภาษีให้มีความถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 คอนโด โมดิซ ไรห์ม รามคำแหง ซอยรามคำแหง 47 ถนนรามคำแหง ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยขนาดใหญ่ จำนวน 30 ชั้น อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการโยธา ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบวัดค่าฝุ่น PM2.5 พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้ตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงพื้นถนนบริเวณประตูทางเข้า-ออก พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 

สำรวจพื้นที่จัดทำ Hawker Center บริเวณหลังห้าง N Mark ข้างห้างน้อมจิตต์ ถนนแฮปปี้แลนด์สาย 2 ซึ่งเขตฯ ได้ประสานผู้ประกอบการศูนย์อาหารแฮปปี้แลนด์ ซึ่งมีพื้นที่สามารถรองรับผู้ค้าได้ 80 ราย เปิดเวลา 07.00-22.00 น. ปัจจุบันมีผู้ค้า 65 ราย เพิ่มผู้ค้าได้อีก 15 ราย ภายในศูนย์อาหารสามารถรองรับลูกค้าได้ 250 คน มีห้องสุขา 1 แห่ง (แยกชาย-หญิง) จากนั้นได้ตรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าตลาดบางกะปิ ถนนลาดพร้าว เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 21 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 703 ราย สำหรับพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน หน้าตลาดบางกะปิ ตั้งแต่ซอยลาดพร้าว 121 ถึงซอยลาดพร้าว 127 มีผู้ค้า 28 ราย เวลาทำการค้า ตั้งแต่ เวลา 08.00 – 19.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า พร้อมทั้งพิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน รวมถึงย้ายผู้ค้าที่อยู่ปากซอยให้เข้าไปอยู่ในซอย สำหรับ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) เป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค และอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม พร้อมทั้งบริหารจัดการดูแลทำความสะอาดพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบความสะอาดของสินค้าและอาหารที่จำหน่าย มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้ 

เยี่ยมชมการคัดแยกขยะเขตบางกะปิ การคัดแยกขยะมูลฝอย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และเพิ่มการคัดแยกขยะอีกชนิดเป็นขยะติดเชื้อ (หน้ากากอนามัย) โดยมีจุดรวมพักขยะ 4 ประเภท บริเวณชั้น 1  และมีจุดตั้งวางถังคัดแยกขยะ 4 ประเภท เพื่อให้ประชาชนผู้มาติดต่อกับสำนักงานเขตทิ้งขยะ บริเวณจุดลานสบาย ส่วนการคัดแยกขยะของฝ่ายต่างๆ มีการคัดแยกแต่ละชั้น โดยแม่บ้านดำเนินการคัดแยกและนำลงมารวบรวมไว้จุดแยกขยะชั้น 1 เพื่อรอการจัดเก็บ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมคัดแยกขยะ ทอดผ้าป่ารีไซเคิล รณรงค์ลดการใช้พลาสติกและโฟม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยก 600 กิโลกรัม/เดือน ปริมาณขยะหลังคัดแยก 211 กิโลกรัม/เดือน แยกเป็นประเภท ดังนี้ 1.ขยะมูลฝอยอินทรีย์ (เศษอาหาร) เฉลี่ย 137 กิโลกรัม/เดือน 2.ขยะมูลฝอยรีไซเคิล เฉลี่ย 70 กิโลกรัม/เดือน 3.ขยะมูลฝอยอันตราย เฉลี่ย 4 กิโลกรัม/เดือน 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางสาวนภัสสร พละระวีพงศ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายไพรัตน์ เกษตรสินธุ์ ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกะปิ สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล